Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทของตัวโขนยักษ์ด้านวัฒนธรรมความเชื่อ และพิธีกรรม ที่จะส่งผลสู่สาระการเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดเชื่อมโยงท่ารำ ศึกษาคุณลักษณะเด่นของศิลปินเอกโขนยักษ์ ให้เกิดรูปแบบการสร้างศิลปินเอกโขนยักษ์ วิธีการดำเนินการวิจัยใช้วิธีวิจัยประวัติศาสตร์ วิจัยเชิงเอกสารการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการวิเคราะห์จากวิธีการฝึกหัก และการถ่ายทอดท่ารำจากครูโขน โดยใช้แม่ท่ายักษ์ เชิด เสมอ เพลงหน้าพาทย์ และการตีบทสร้างสรรค์ท่ารำประกอบ คำร้อง คำพากย์ และเจรจา ผลการวิจัยพบว่ายักษ์เข้าสู่สังคมไทยโดยการสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างอินเดียกับไทย ซึ่งรับเข้ามาทางด้านศาสนาพราหมณ์และพุทธในความเชื่อที่เกิดขึ้นจากพิธีกรรม ประเพณี และปรากฏการณ์ทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ที่มียักษ์เป็นสัญลักษณ์ส่งผลให้เกิดสาระสำคัญของพฤติกรรมของยักษ์ในสังคมไทย เป็นองค์ความรู้ด้านนาฏยศิลป์โขน จนเกิดรูปแบบการพัฒนา ถ่ายทอดเป็นขั้นตอนด้วยการใช้ความถี่ในการปฏิบัติโขนยักษ์อย่างน้อย 18 ปี สามารถวิเคราะห์อธิบายได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังพบว่าศิลปินเอกโขนยักษ์จำเป็นต้องมีพื้นฐานท่ารำที่สั่งสมมา จนเกิดทักษะความชำนาญ ด้วยการเชื่อมโยงจากครูกับผู้เรียนโขนยักษ์ สามารถสร้างบุคลิกให้แข็งแรงภาคภูมิ สง่างาม ตลอดจนรับรู้ศักยภาพของตนเองอย่างแท้จริง งานวิจัยฉบับนี้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการถ่ายทอดฝึกหัดการสร้างศิลปินเอกโขนยักษ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาระสำคัญคือการอนุรักษ์ศิลปะดั้งเดิมไว้มิให้กลาย หรือสูญหายไปอีกด้วย ดังนั้นการค้นคว้าวิจัยเรื่องโขนจึงควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทุกปี