Abstract:
รูปแบบของสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นสิ่งสำคัญเพราะมีความสัมพันธ์กับอำนาจของอนุญาโตตุลาการและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นสิ่งที่คู่สัญญาต้องทำให้ถูกต้องโดยทั่วไปกฎหมายหลายฉบับกำหนดให้รูปแบบของสัญญาอนุญาโตตุลาการต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เป็นหลักฐานว่าคู่สัญญาตกลงกันว่าจะระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ และเพื่อให้คู่สัญญารับรู้แน่ชัดว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจะไม่อยู่ภายใต้อำนาจของศาล วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาถึงรูปแบบของสัญญาอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 7 ของกฎหมายต้นแบบว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการในทางการค้าระหว่างประเทศ ค. ศ. 1985 ซึ่งกำหนดว่าต้องเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอาจทำเป็นสัญญาที่ลงนามโดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายหรือเป็นเอกสารโต้ตอบทางจดหมาย โทรเลข โทรพิมพ์ หรือวิธีการสื่อสารทางโทรคมนาคมอื่นที่มีบันทึกของข้อตกลงหรือการที่คู่สัญญาได้กล่าวอ้างว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการในเอกสารแสดงข้อเรียกร้องหรือข้อคัดค้านและอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ปฏิเสธรวมถึงการอ้างอิงในสัญญาถึงเอกสารที่มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการอยู่โดยมีเจตนาให้เอกสารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาก็เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่กำหนดในมาตรา 7 ไม่สอดคล้องกับทางปฏิบัติของการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างประเทศเท่าใดนักเพราะนอกจากเอกสารตามที่กำหนดในมาตรา 7 แล้วในปัจจุบันยังมีเอกสารอื่นที่อาจใช้เป็นหลักฐานของสัญญาอนุญาโตตุลาการได้และอาจปรากฏอยู่ในเอกสารทั้งที่เป็นกระดาษและในรูปอิเล็กทรอนิกส์แต่เอกสารเหล่านั้นไม่อยู่ในคำจำกัดความของมาตราดังกล่าวซึ่งทำให้มีปัญหาว่ารูปแบบสัญญาอนุญาโตตุลาการไม่ถูกต้องส่งผลให้อนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทและในกรณีที่มีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วก็ไม่สามารถบังคับตามคำชี้ขาดได้ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่ามาตรา 7 ควรได้รับการปรับปรุงให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าเติมโดยให้รวมถึงเอกสารใดๆ ที่อาจใช้เป็นหลักฐานของสัญญาอนุญาโตตุลาการได้ทั้งที่เป็นกระดาษและในรูปอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศให้มากที่สุด