Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วน ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วน และศึกษาทัศนคติทางสังคมของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการบริโภคอาหารจานด่วนโดยใช้กรอบตัวแปร 6 ตัว ได้แก่ ลักษณะส่วนบุคคล 6 ด้าน คือ เพศ, อายุ,รายได้, ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการและอาหารจานด่วน, ทัศนคติเกี่ยวกับคุณค่าทางสังคม และอาหารจานด่วน และรูปแบบชีวิตส่วนตัวของผู้บริโภค และการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 317 คน เป็นนิสิตระดับปริญญาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ และ ไคสแควร์ ผลการศึกษาปรากฏว่า จำนวนของนิสิตหญิงมีจำนวนใกล้เคียงนิสิตชาย อายุส่วนใหญ่ของนิสิต อยู่ระหว่าง 17-19 ปี และมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 5,400 บาทต่อเดือน นิสิตมีความรู้เกี่ยวกับโภชนาการและอาหารจานด่วนอยู่ในระดับต่ำ มีทัศนคติที่ดีและไม่ดีเกี่ยวกับคุณค่าทางสังคม และอาหารจานด่วน ด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยมีความเห็นต่อ ร้านอาหารจานด่วน ว่าพนักงานภายในร้านให้บริการดี สามารถสั่งอาหารจานด่วนทางโทรศัพท์ได้ อาหารจานด่วนรับประทานง่าย และมีความสะดวกรวดเร็ว ในการซื้อหาและรับประทาน นิสิตส่วนใหญ่ ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับอาหารจานด่วน จากสื่อโฆษณาต่างๆ และรับประทานอาหารจานด่วนเพียงเพื่อต้องการทดลองชิม ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า เพศ, อายุ รายได้, ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการและอาหารจานด่วน, รูปแบบชีวิตส่วนตัวของผู้บริโภค และการรับข้อมูลข่าวสาร มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในขณะที่ทัศนคติเกี่ยวกับคุณค่าทางสังคม และอาหารจานด่วน มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารจานด่วนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนิสิตกลุ่มที่มีทัศนคติที่ดีจะนิยมบริโภคมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน ในขณะที่กลุ่มที่มีทัศนคติไม่ดีจะบริโภคอาหารจานด่วนไม่เกิน 4 ครั้งต่อเดือนและได้รับข้อมูลข่าวสารจากโทรทัศน์