Abstract:
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ออกกฎระเบียบที่เกี่ยวกับภาษีอากรเพื่อยกเว้นหรือลดหย่อนภาระภาษีที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายตราสารจำพวกตราสารทุน ตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์เป็นจำนวนมาก ได้แก่ มาตรการที่ภาครัฐได้กำหนดยกเว้นผลกำไรส่วนทุนสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตราสารอนุพันธ์ในตลาดอนุพันธ์ โดยมาตรการนี้มีข้อดี คือ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนในประเทศไทย โดยเป็นการสร้างแรงจูงใจให้บุคคลธรรมดาเข้ามาลงทุนในตลาดรองที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการ และเป็นการสนับสนุนบริษัทมหาชน ให้เข้ามาระดมทุนหรือทำการป้องกันความเสี่ยงในตลาดทุนมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากกู้ยืมเงินผ่านตลาดเงินเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคของมาตรการทางภาษีนี้คือ เนื่องจากว่าหลักเกณฑ์นี้ได้นำมาใช้ตั้งแต่ช่วงการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เพื่อใช้กระตุ้นการลงทุนในตลาดทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งกฎเกณฑ์นี้ก็ยังใช้อยู่จนถึงในปัจจุบันซึ่งเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว (ปรับปรุงในปี พ.ศ. 2534) แต่เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาขึ้นไปเป็นอย่างมากนับจากช่วงเวลาก่อตั้ง ทำให้มีกฎเกณฑ์ทางภาษีมีความไม่ทันสมัยในบางประการและก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายตามมา ได้แก่ 1) ปัญหาในความแตกต่างของภาระภาษีในตราสารแต่ละประเภท 2) ปัญหาภาระภาษีจากการขายตราสารในตลาดรองที่จัดตั้งเป็นทางการและนอกตลาดที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการ 3) ปัญหาวิธีการคิดคำนวณกำไรหรือขาดทุนจากขายตราสารนอกตลาดรองที่จัดตั้งเป็นทางการ และ 4) ปัญหาภาระภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีแต่ละประเภท และหลักเกณฑ์ในการเสียภาษี เป็นต้น ดังนั้น ผู้วิจัยจึงกำหนดสมมติฐานว่ามาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอื่นได้ถูกกำหนดขึ้นด้วยเหตุผลพิเศษในทางนโยบายของรัฐ โดยกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรองหลายฉบับ แต่มาตรการทางภาษีดังกล่าวนั้นได้ก่อให้เกิดความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำขึ้นในโครงสร้างของกฎหมายภาษีอากรของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยผู้วิจัยได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาภายหลังจากที่รัฐได้ศึกษาผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์และได้กำหนดนโยบายทางภาษีที่ชัดเจนแล้วออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ การปรับปรุงมาตรการทางภาษีที่ใช้อยู่ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น หรือการนำภาษีกำไรส่วนทุน (Capital Gains Tax) มาใช้บังคับในประเทศไทย