Abstract:
แม้องค์กรธุรกิจในรูปแบบกลุ่มบริษัทมีปรากฎในประเทศไทยเป็นเวลานาน และกำลังเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก แต่พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 กลับมิได้มีบิบัญญัติกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่จักเข้ามาบริหารจัดการสภาวะหนี้สินล้มพ้นตัวของกลุ่มบริษัทเป็นการเฉพาะ คงอาศัยการปรับใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉกเช่นเดียวกับบริษัทเดี่ยวทั่วไปมิได้เป็นสมาชิกของกลุ่มบริษัท วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาถึงรูปแบบของกลุ่มบริษัท และแนวคิดทางกฎหมายที่สำคัญ พร้อมทั้งแนวคิดกระบวนการพิจารณา และมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการล้มละลายของลูกหนี้ที่เป็นกลุ่มบริษัทภายใต้กฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของประเทศไทยในปัจจุบัน รวมถึงแนวคิดและมาตรการทางกฎหมายต่อการล้มละลายของกลุ่มบริษัทของประเทศสหรัฐอเมริกา และแนวทางในประเด็นดังกล่าวของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นเฉพาะแต่ประเด็นและมาตรการทางกฎหมายล้มละลายหลักสำคัญ
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า แม้ในทางปฏิบัติจะมีการนำเอามาตรการทางกฎหมายบางประการมาใช้แก่การฟื้นฟูกิจการของกลุ่มบริษัทบ้างแล้วในประเทศไทย แต่การปรับใช้โดยมิได้มีการบัญญัติรับรองอย่างชัดเจนนั้นยังคงก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฏหมาย ความไม่แน่นอนทางกฎหมายของคดี และการโต้แย้งของคู่ความซึ่งปัญหาเหล่านี้ย่อมจะเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้กระบวนการทางกฎหมายล้มละลายดำเนินไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และรักษามูลค่าร่วมกันของกิจการกลุ่มบริษัท ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงของเสนอแนวทางให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เพื่อรับเอาแนวคิดเกี่ยวกับกลุ่มบริษัทและมาตรการทางกฎหมายต่อการล้มละลายของกลุ่มบริษัทมาปรับใช้ โดยอาศัยการจำแนกรูปแบบของกลุ่มบริษัทเพื่อการปรับใช้มาตรการทางกฎหมายแต่ละประเภทอย่างเหมาะสมและพิจารณาปรับใช้แนวทางของประเทศสหรัฐอเมริกาและคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มบริษัทในประเทศไทยและการติดตามแนวทางเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวของสากลและนานาประเทศที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการในขณะนี้