Abstract:
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อ กำหนดรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนการดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวที่มีลักษณะแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไปอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ โดยมุ่งเน้นให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสกลับตัว ยับยั้งการกระทำความผิดซ้ำ รวมทั้งรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในครอบครัวไว้ได้มากกว่าการลงโทษผู้กระทำผิด จากการศึกษาพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 พบว่าได้กำหนดให้ศาลมีบทบาทในการพิจารณาคดีและมีคำสั่งต่างๆ อาทิ อนุญาตให้ผัดฟ้องอนุญาตให้ออกหมายขัง ออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ กำหนดวิธีการอย่างอื่นแทนการลงโทษ และมีบทบาทเกี่ยวกับการยุติคดี แต่บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นประเด็นปัญหาที่สร้างความเข้าใจที่ไม่ตรงกันสำหรับเจ้าพนักงานตำรวจ พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานอัยการ และผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้บังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้โดยตรง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้เกิดความชัดเจนสำหรับบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวให้มีความเห็นทางกฎหมายที่เป็นไปในทางเดียวกันโดยเฉพาะผู้พิพากษาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความเป็นธรรมในคดีความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เกิดผลในการบังคับที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเพื่อให้การพิจารณาคดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นไปในแนวทางเดียวกัน