Abstract:
จากการศึกษาพบว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยประสบปัญหาเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก นั่นคือ ปัญหาคดีล้นศาลคนล้นคุก เนื่องจากแนวคิดในการดำเนินคดีอาญาในปัจจุบันนี้มีแนวคิดที่ว่า การกระทำผิดอาญาเป็นการละเมิดอำนาจรัฐ นสเพราะฉะนั้นรัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ผ่านหน่วยงานต่างๆที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ผลที่ได้รับก็คือ ผู้กระทำผิดต้องถูกนำตัวมาลงโทษในการจำคุกในเรือนจำ และมีตราบาปติดตัว ในขณะที่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเหยื่อของการกระทำผิด ขาดความช่วยเหลือ และ ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ปัจจุบันได้มีแนวคิดด้านงานยุติธรรมรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” (Restorative Justice) ที่มองว่าปัญหาของการกระทำความผิด ไม่ได้เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อรัฐเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ของคนในสังคมอีกด้วย โดยรูปแบบดังกล่าวนี้ สามารถนำมาใช้เป็นกระบวนการยุติธรรมเสริมในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก โดยนำมาใช้ในคดีที่มีความผิดเล็กน้อย ไม่รุนแรงและในคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงมาก โดยหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่จะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการ คือ พนักงานอัยการ เพราะในการดำเนินคดีอาญานั้น
พนักงานอัยการมีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดี ซึ่งมีผลทำให้เป็นการเบี่ยงเบนคดี (Diversion) ออกจากกระบวนการยุติธรรมได้ สำหรับบทบาทของพนักงานอัยการในต่างประเทศ อันได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเยอรมัน และประเทศฝรั่งเศส ต่างก็ได้นำรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ในเรื่องการชะลอการฟ้อง และ การประนอมข้อพิพาททางอาญา ซึ่งในการดำเนินการนั้น แต่ละประเทศมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามระบบกฎหมายของประเทศนั้นๆ โดยรูปแบบของประเทศฝรั่งเศสเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการกำหนดบทบาทของพนักงานอัยการไทย วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ต้องการเสนอแนวคิดว่าควรเพิ่มบทบาทพนักงานอัยการไทยให้สอดคล้องกับกระบวนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยการนำรูปแบบการกำหนดบทบาทของต่างประเทศมาปรับใช้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลให้เกิดความสันติสุขและความสมานฉันท์ขึ้นในสังคมต่อไป