Abstract:
โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ต่อไรฝุ่นเป็นโรคภูมิแพ้ที่มีการอักเสบเรื้อรังในจมูก การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่ายาต้านฮิสตามีนตัวใหม่ เช่น fexofenadine ซึ่งเป็น active metabolites ของ terfenadine นอกจากมีฤทธิ์ต้านอิสตามีนแล้วยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย อย่างไรก็ตามยังไม่มีการยืนยันฤทธิ์ดังกล่าวทางคลินิก การศึกษานี้เป็น double-blind randomized controlled trial เปรียบเทียบผลการใช้ยา fexofenadine กับยาหลอกในการลดการอักเสบของเยื่อบุในจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้จากไรฝุ่น โดยวิเคราะห์ผลในการลดระดับของ ICAM-1 และความสามารถในการลดปริมาณเซลล์อักเสบจากเซลล์เยื่อบุภายในจมูกของผู้ป่วยเป็นสำคัญ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์รองเพื่อและหาความสัมพันธ์ระหว่าง ICAM-1 expression กับอาการของผู้ป่วยและปริมาณเซลล์อักเสบในโรคดังกล่าวด้วย ผลการวิจัยปรากฏว่า ภายหลังการกระตุ้นด้วยสารสกัดจากไรฝุ่น ผลของยา fexofenadine ต่อระดับของ ICAM-1 บนผิวเซลล์เยื่อบุในจมูก, ต่อปริมาณเซลล์อักเสบในจมูก และต่ออาการทางคลินิกของผู้ป่วยในโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ต่อไรฝุ่นไม่มีความแตกต่างทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก เมื่อวิเคราะห์ในแง่ความสัมพันธ์ พบว่าระดับของ ICAM-1 บนผิวเซลล์เยื่อบุจมูกไม่สัมพันธ์กับอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้จากไรฝุ่น แต่ผลการทดสอบทางผิวหนังด้วย Der p antigen พบว่าขนาดของ wheal (ค่าเป็นมิลลิเมตร) มีความสัมพันธ์เชิงผกผันกับระดับความเข้มข้นของสารสกัดไรฝุ่น Der p allergen ที่ก่ออาการทางจมูก (nasal challenge threshold) (P<0.001) และพบว่าจำนวนของ eosinophils ที่ตรวจพบจากการเขี่ยผิวเยื่อบุจมูกของผู้ป่วย มีความสัมพันธ์กับทั้งอาการคัดจมูก (P=0.02) ระดับของ ICAM-1 บนเซลล์เยื่อบุจมูก (P=0.005) และปริมาณของ neutrophils (P=0.001) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุป การศึกษานี้ไม่พบว่า fexofenadine มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้1ต่อไรฝุ่น การวิจัยนี้สนับสนุนการใช้ผลการทดสอบทางผิวหนังในการวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และเสนอว่าการตรวจหาปริมาณของ eosinophils ในเยื่อบุจมูกน่าจะเป็นประโยชน์ในการประเมินความรุนแรงของการอักเสบของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ต่อไรฝุ่น