Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง การรับรู้ภาวะสุขภาพ ความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพ การรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพ การรับรู้ความสามารถของตนในการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพกับปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมุสลิม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมุสลิม อายุระหว่าง 20-59 ปี จำนวน 110 คน ที่เข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลหนองจอก ศูนย์บริการสาธารณะสุขในเขตหนองจอก ซึ่งได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการรับรู้ภาวะสุขภาพ แบบสอบถามความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ แบบสอบถามการรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพ แบบสอบถามการรับรู้อุปสรรคในการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพ แบบสอบถามการรับรู้ความสามารถของตนในการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพ และแบบสอบถามพฤติกรรมผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมุสลิม ที่ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความเที่ยงจากการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .79, .81, .82, .84, .83 และ .89 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1.ค่าเฉลี่ยพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมุสลิมอยู่ในระดับดี ( x̄=3.16, S.D.=.38) 2.การรับรู้ภาวะสุขภาพ ความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมุสลิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=.287, .292, .612 และ .494 ตามลำดับ) 3.การรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพมีความสัมพันธ์ทางลบกับพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมุสลิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .334)