Abstract:
ความสำคัญและที่มา : การศึกษาในอดีตพบว่าผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีอุบัติการณ์ของโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่าประชากรปกติทั่วไปอันมีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อและโรคไม่มีการติดเชื้อและมีความสัมพันธ์กับระดับซีดีสี่ที่ลดลง ในประชากรผู้ใหญ่ไทยที่มีประวัติหอบหืด 8-15% แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่มีการศึกษาเกี่ยวกับโรคหืดในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีน้อย ตลอดจนยังไม่มีข้อมูลของความไวเกินของหลอดลมในผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประชากรไทยแต่อย่างใด วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบความไวเกินของหลอดลมระหว่างผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับซีดีสี่น้อยกว่า 500 เซลล์ต่อไมโครลิตรกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี การออกแบบการวิจัย : เปรียบเทียบ, ในช่วงเวลาเดียวกัน เครื่องมือและวิธีวิจัย : อาสาสมัครที่ร่วมโครงการนี้ประกอบด้วยผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับซีดีสี่น้อยกว่า 500 เซลล์ต่อไมโครลิตรที่มารับบริการผู้ป่วยนอกที่คลินิกภูมิคุ้มกันได้ถูกคัดเลือกแบบสุ่ม อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีประกอบด้วยนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้านและบุคคลที่สมัครใจ โดยทั้งสองกลุ่มต้องไม่มีข้อห้ามในการทำการทดสอบ (ภาวะหลอดลมอุดกั้นอย่างรุนแรง, โรคหัวใจขาดเลือดหรือสมองขาดเลือดในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา, ความดันโลหิตสูงเกินไป SBP>200 หรือ DBP>100 mmHg, โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง, ไม่สามารถทำการตรวจสอบสมรรถภาพทางปอด หรือทำแล้วไม่สามารถแปลผลได้, มีโรคของกล้ามเนื้อที่เป็นอุปสรรคต่อการทดสอบ, ผู้ที่ใช้ยายับยั้งโคลินเอสเตอเรส และตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร) ผู้ที่ได้รับการทดสอบต้องเซ็นต์ยินยอมรับการทดสอบด้วยความสมัครใจ รวมมีอาสากลุ่มละ 105 คน ซึ่งได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดด้วยการเป่ามาตรการหายใจและทดสอบความไวหลอดลมโดยใช้วิธีหายใจ 5 ครั้งผ่านทางเครื่องกำหนดขนาดยา ความเข้มข้น ของเมธาโคลีนที่ใช้ คือ 0, 1, 4 และ 6 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรตามลำดับ ผลการวิจัย : ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับซีดีสี่น้อยกว่า 500 เซลล์ต่อไมโครลิตรจำนวน 105 คน เป็นเพศชาย 71 คน เพศหญิง 34 คน (68%, 32%) อายุเฉลี่ย 39.84±9.31 ปี, จำนวนคนที่สูบบุหรี่คิดเป็น 31.4% ได้รับยาต้านไวรัส 99 คน (ได้สูตรที่มีเนวิลาปีน 19 คน และ 80 คน ที่เหลือได้ยาสูตรที่มีเอฟาไวเรนซ์หรือโปรตีนเอสอินฮิบิเตอร์) มีประวัติเคยเป็น วัณโรคปอด 24.7%, ปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซีสติกแครินิไอ 10.5% และอื่นๆ 46.6%, ประวัติภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ (หอบหืด1.9% และภูมิแพ้ 14.2%) สำหรับกลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 105 คน เป็นเพศชาย 64 คน เพศหญิง 41 คน (61%, 38%) อายุเฉลี่ย 36.04±12.69 ปี จำนวนคนที่สูบบุหรี่คิดเป็น 15.2% มีประวัติโรคหืด 6.6% และภูมิแพ้ 22.8% ผลการทดสอบความไวหลอดลมพบมีการตอบสนองไวเกิน 8 คนใน 105 คน (7.6%) ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ และ 12 คนใน 105 คน (11.4%) ในกลุ่มอาสาสมัครปกติ (p = 0.395) ในกลุ่มย่อยของผู้ติดเชื้อเอชไอวีแบ่งตามระดับซีดีสี่น้อยกว่า 200 และมากกว่าหรือเท่ากับ 200 คน แต่ไม่เกิน 500 เซลล์ต่อไมโครลิตร พบว่ามีการตอบสนองไวเกิน 2/38 (5.2%) และ 6/67 (8.9%) ตามลำดับ(p=0.531) สรุปผลการวิจัย : ไม่พบว่ามีความแตกต่างกันระหว่างผลการทดสอบความไวหลอดลมในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับซีดีสี่น้อยกว่า 500 เซลล์ต่อไม่โครลิตร กับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี