Abstract:
ปัจจุบันปัญหาการก่อการร้ายถือเป็นปัญหาสำคัญของประชาคมโลกที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในการดำเนินการกับปัญหาการก่อการร้ายจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งองค์การสหประชาชาติในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของประชาคมโลกจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการออกข้อมติต่างๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจตามหมวด 7 ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ และการกระทำการรุกราน ที่จะมีผลผูกพันรัฐสมาชิกแห่งองค์การสหประชาชาติรวมทั้งประเทศไทยในการที่จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงด้วย วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งที่จะศึกษาถึงมาตรการต่างๆ ตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อมติ รวมทั้งศึกษาว่าประเทศไทยได้ดำเนินการตามพันธกรณีที่มีอยู่ไปแล้วอย่างไร ทั้งนี้เพื่อเป็นการประเมินถึงผลการดำเนินการของประเทศไทยตามข้อมติ และหาแนวทางในการดำเนินการต่อไป ผลจากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการต่างๆ ตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงไปอย่างเต็มที่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้การก่อการร้ายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายและการดำเนินการอายัดแหล่งเงินทุนรวมทั้งทรัพย์สินของผู้ก่อการร้าย เป็นต้น ซึ่งในการดำเนินการตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง มีความจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบในด้านต่างๆ รวมทั้งกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องก่อนด้วย ทำให้ในบางกรณีจึงไม่อาจปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างทันทีได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรที่จะเร่งดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย แต่ทั้งนี้ในการปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ นั้นควรจะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมด้วย