Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงมาตรการการลงโทษผู้ขับขี่ยานพาหนะที่มีพฤติกรรม "ดื่มแล้วขับ" ที่จะทำให้ความสูญเสียของทั้งสังคมน้อยที่สุด สำหรับมาตรการการลงโทษที่พิจารณาในที่นี้ ได้แก่ การตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ และการกำหนดค่าปรับกับผู้ขับขี่ การศึกษานี้ใช้กรอบการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ โดยทำการสมมติพฤติกรรมของผู้ขับรถที่ดื่มแอลกอฮอล์ ตำรวจ และรัฐบาล ทั้งนี้ได้ใช้การรวบรวมข้อมูลและพารามิเตอร์จากแหล่งต่างๆ และนำมาสร้างสถานการณ์จำลอง (Simulation) เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการลดความสูญเสียจากพฤติกรรมดื่มแล้วขับดังกล่าว ผลการศึกษาในเชิงทฤษฎี พบว่า (1) ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ดื่มแอลกอฮอล์จะพิจารณาต้นทุนของการดื่ม ซึ่งต้นทุนของการดื่มส่วนหนึ่งจะถูกกำหนดโดยความน่าจะเป็นที่จะถูกตำรวจจับ และการเสียค่าปรับ (2) การตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์จะสามารถลดความสูญเสียได้มากกว่าการกำหนดค่าปรับ แต่การตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์จะมีต้นทุนสูงกว่า (3) ในปัจจุบันตำรวจตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยจากการศึกษาเชิงทฤษฎีตำรวจควรจะตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเขตกรุงเทพมหานคร 11 ด่านต่ออาทิตย์ (4) การกำหนดค่าปรับในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ จากการศึกษาเชิงทฤษฎีระดับค่าปรับที่เหมาะสม คือ 22,500 บาท (5) หากรัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนกับตำรวจ ตำรวจจะสามารถตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น และการให้งบประมาณสนับสนุนโดยให้เป็นส่วนแบ่งของค่าปรับ รัฐบาลจะใช้งบประมาณน้อยกว่าการให้งบประมาณสนับสนุนแบบอื่น สำหรับผลการศึกษาในเชิงประจักษ์ ได้ทำแบบสอบถามกับผู้ที่มีพฤติกรรมดื่มแล้วขับและถูกจับคุมประพฤติ เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ว่ามาตรการการลงโทษจะมีผลในการลดพฤติกรรมดื่มแล้วขับหรือไม่ และวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติพบว่า การตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น และการกำหนดค่าปรับเพิ่มขึ้นจะสามารถลดพฤติกรรมการดื่มแล้วขับได้อย่างมีนัยสำคัญ