Abstract:
ตามที่มีร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะออกใช้เพื่อทดแทนพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างใหม่ ฉบับนี้ จะบังคับจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท โดยไม่มีการยกเว้นภาษีสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและยากจน ชุมชนวัดตึก เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตการปกครองอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นชุมชุน ที่อยู่อาศัยอย่างแออัด ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์จัดให้เช่าเพื่อการอยู่อาศัยจำนวน 504 ราย การวิจัยในครั้งนี้ได้ออกสำรวจพื้นที่ทางกายภาพ สัมภาษณ์ และนำผลที่ได้จากการสำรวจมาวิเคราะห์สรุปผล เพื่อให้ทราบถึงภาระภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และความต้องการด้านต่าง ๆ ของผู้มีรายได้น้อย เมื่อมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ จากการศึกษาพบว่า อัตราภาษีทรัพย์สินร้อยละ 0.1 มีผลทำให้ (1)ครัวเรือนสามารถจ่ายชำระภาษีทรัพย์สินได้ร้อยละ 75 และไม่สามารถจ่ายชำระภาษีทรัพย์สินได้ร้อยละ 25 (2)การลดอัตราภาษีลงช่วงละ 0.05 จำนวน 18 ช่วง จะทำให้มีผู้สามารถชำระภาษีได้เพิ่มขึ้นแต่เพิ่มขึ้นในปริมาณที่ไม่มาก โดยอัตราภาษีร้อยละ 0.015-0.010 มีผู้ที่สามารถชำระภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นร้อยละ 78.97 และช่วงของการลดอัตราภาษีร้อยละ 0.060-0.030 แม้มี ความห่างกันถึง 7 ช่วง แต่ผู้ที่สามารถชำระภาษีได้มีจำนวนเท่ากันคือ ร้อยละ 78.10 (3)ปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินภาษีมี 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ ทำเลที่ตั้งของที่ดิน โดยที่ดินที่ติดถนนสายหลักจะต้องเสียภาษีมากกว่าที่ดินที่ติด ซอย ทาง ร้อยละ 22.53 ปัจจัยที่สองคือ สิ่งปลูกสร้าง แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกได้แก่ ประเภทของสิ่งปลูกสร้าง ที่กำหนดราคาค่าสร้างต่อตารางเมตรที่แตกต่างกัน โดยค่าก่อสร้างสูงสุดจะมากกว่าค่าก่อสร้างต่ำสุด ร้อยละ 15.32 ส่วนที่สองได้แก่ อัตราการหักค่าเสื่อมราคาของสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทที่ไม่เท่ากัน โดยสิ่งปลูกสร้างประเภทตึก จะหักค่าเสื่อมราคาน้อยกว่าสิ่งปลูกสร้างประเภทครึ่งตึกครึ่งไม้ (4)ปัญหาหลักของชุมชนมีข้อสรุปดังนี้ ด้านเศรษฐกิจ คือ การไม่มีงานทำ ด้านสังคม คือ คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในชุมชน ด้านโครงการสร้างพื้นฐาน คือ น้ำประปาที่ไม่สะอาด และด้านสิ่งแวดล้อม คือ สภาพที่อยู่อาศัยที่ทรุดโทรม (5)ความต้องการของคนในชุมชน มีข้อสรุปดังนี้ ด้านเศรษฐกิจ คือ ต้องการให้มีการฝึกอบรมอาชีพเพิ่มเติม ด้านสังคม คือ จัดให้มีหน่วยบริการสาธารณะสุขคอยให้บริการในพื้นที่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือ ให้การปรับปรุงระบบน้ำประปา และด้านสิ่งแวดล้อม คือ ต้องการให้ดูแลด้านความสะอาดในชุมชน