Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางจุลกายวิภาค ชนิด ปริมาณและการกระจายตัวของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน ภายในเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกของสุกรสาวที่ถูกคัดทิ้งเนื่องจากไม่แสดงอาการเป็นสัด เก็บตัวอย่างเลือดก่อนการคัดทิ้ง เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในซีรั่ม ชันสูตรอวัยวะระบบสืบพันธุ์สุกรสาว และแบ่งสุกรสาวออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มระยะฟอลลิเคิล กลุ่มระยะลูเตียล และกลุ่มสุกรสาวก่อนวัยเจริญพันธุ์ กลุ่มละ 10 ตัว เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อมดลูกและคอมดลูกและนำไปผ่านกระบวนการย้อมด้วยสี H&E ศึกษาลักษณะทางจุลกายวิภาคด้วยกล้องจุลทรรศน์แสงสว่าง ร่วมกับการใช้ ocular micrometer ชนิด 25 ช่อง พื้นที่ขนาด 15,625 ตารางไมโครเมตร ในการนับจำนวนเซลล์ ผลการศึกษาพบว่า เยื่อบุผิวโพรงมดลูกของสุกรสาวทุกกลุ่มโดยส่วนใหญ่เป็นแบบ pseudostratified columnar พบระดับการบวมน้ำและจำนวนหลอดเลือดตัดตามขวางมากที่สุดในกลุ่มฟอลลิเคิล (P<0.05) พบปริมาณของ secretory vesicle และจำนวนต่อมมดลูกมากที่สุดในกลุ่มลูเตียล (P<0.05) เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่พบมากที่สุดในทุกชั้นของเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกของสุกรสาวทุกกลุ่มคือ ลิมโฟไซต์ ในชั้นเยื่อบุผิวโพรงมดลูก พบนิวโทรฟิล และแมคโครฟาจมากที่สุดในกลุ่มฟอลลิเคิล ในชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้เยื่อบุผิว พบนิวโทรฟิลมากที่สุดในกลุ่มฟอลลิเคิล (P<0.001) และอิโอซิโนฟิลมากที่สุดในกลุ่มลูเตียล (P=0.001) ในชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของต่อมมดลูก พบลิมโฟไซต์ และอิโอซิโนฟิลมากที่สุดในกลุ่มก่อนวัยเจริญพันธุ์ ในการศึกษานี้ พบพลาสมาเซลล์จำนวนมากในชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้เยื่อบุและของต่อมมดลูกในสุกรสาวทุกกลุ่ม สุกรสาวที่ไม่แสดงอาการเป็นสัดมีลักษณะทางจุลกายวิภาค ชนิดและการกระจายตัวของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันในเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกแตกต่างกันขึ้นกับวงรอบการเป็นสัด และพบว่าสุกรสาวที่ไม่แสดงอาการเป็นสัดบางตัว มีภาวะเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบแบบเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเรื้อรังในระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลางร่วมด้วย