Abstract:
เพลงเรื่อง จัดเป็นเพลงโบราณประเภทหนึ่งที่ปรากฎมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เพลงเร็วเรื่องแขกมัดตีนหมู เป็นเพลงเรื่องประเภทหนึ่ง อยู่ในอัตราชั้นเดียว รูปแบบของเพลงเรื่องประเภทนี้คือ เพลงเร็ว และออกด้วยเพลงลา ด้วยจำนวนท่อนที่มีมากถึง 10 ท่อน ก่อให้เกิดความหลากหลายในการดำเนินทำนอง ทางฆ้องที่พบมีเอกลักษณ์และมือแฝงไปด้วยทางฆ้องที่ปรากฎในเพลงเดี่ยวมากมาย เกิดประโยชน์แก่ผู้บรรเลงทั้งเป็นการฝึกทักษะในการปฏิบัติ ความจำ และความอดทนในการบรรเลง จากการศึกษาหลักการบรรเลงเพลงเร็วในวงเครื่องสายไทย ะ กรณีศึกษาเรื่องแขกมัดตีนหมู (ทางหลวงชาญเชิงระนาด) พบว่าในการแปลทำนองจากทางฆ้องเป็นทางเครื่องสายไทยนั้น ต้องคงไว้ซึ่งลักษณะเด่นของทางฆ้อง เช่น การสะบัด การลักจังหวะ กลอนบังคับทาง อีกทั้งเรื่องบันไดเสียงและลูกตกเป็นสำคัญ โดยแปลทางบรรเลงให้มีความผิดเพี้ยนไปจากทำนองหลักน้อยที่ชุด ในการดำเนินทำนองของวงเครื่องสายไทยนั้นเป็นการดำเนินทำนองเก็บปกติ มีการใช้กลวิธีพิเศษเข้ามาช่วยตกแต่งทำนอง และเมื่อทำการเรียบเรียงทางบรรเลงในวงเครื่องสายไทยพบว่า ทางฆ้องในเพลงเร็วเรื่องนี้ มีความวิจิตรพิศดารมาก ดังนั้นทางบรรเลงในวงเครื่องสาย ไทยจึงมีคุณลักษณะของความเข้มข้นน้อยกว่า แต่คุณลักษณะสำคัญที่ปรากฎคือ " ความเรียบ " ของการดำเนินทำนองควบคู่ไปกับทางฆ้องและความประสานกลมกลืนในทางบรรเลงของเครื่องดนตรีทั้ง 3 ชิ้น คือ จะเข้ ซอด้วง และซออู้ ทั้งนี้ในการบรรเลงยังต้องยึดหลักของทางที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเองไว้ด้วย