Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์การเป็นพยาบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤต โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ ผู้ให้ข้อมูลเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤต ซึ่งมีประสบการณ์การปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤตติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 5 ปีขึ้นไป และมีความยินดีเป็นผู้ให้ข้อมูล คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจงจำนวน 14 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และบันทึกการสนทนา นำข้อมูลที่ได้มาถอดความแบบคำต่อคำ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาตามวิธีการของ Colaizzi ผลการศึกษาพบว่า พยาบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤตให้ความหมายการเป็นพยาบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤตไว้ว่าจะต้องเก่ง มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เป็นคนที่มีความละเอียด รอบคอบ ช่างสังเกต และจะต้องมีใจรักและใส่ใจในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว สำหรับประสบการณ์การเป็นพยาบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤต พบว่าประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือ ความสามารถเฉพาะทาง ซึ่งเป็นสมรรถนะในบทบาทหน้าที่เชิงวิชาชีพของพยาบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤต ประเด็นที่ 2 ความเครียด ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน เครียดจากผู้ร่วมงาน และเครียดจากการติดต่อ ประสานงานกับแพทย์ ประเด็นที่ 3 การปรับตัว พบว่าพยาบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤตจะมีการปรับตัวเข้ากับลักษณะงานที่ทำ ผู้ร่วมงาน และตารางการทำงาน เมื่อปรับตัวได้ ทำให้ความเครียดลดลงและมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น ประเด็นสุดท้าย พบว่าสิ่งที่ทำให้พยาบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤตคงอยู่ในงานได้ เพราะบรรยากาศในการทำงานที่อบอุ่นเป็นกันเอง มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน รับรู้ถึงคุณค่าของการเป็นพยาบาล มีความภาคภูมิใจในองค์กรและมีความสุขในการทำงาน และการทำงานเป็นความมั่นคงของครอบครัว ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ทำให้เข้าใจถึงประสบการณ์การเป็นพยาบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤตได้ชัดเจนมากขึ้น ความรู้ที่ได้รับสามารถนำไปเป็นพื้นฐานให้ผู้บริหารทางการพยาบาลนำไปพัฒนาเป็นกลยุทธ์สร้างความพึงพอใจและเพิ่มอัตราการคงอยู่ในงานของพยาบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤต