Abstract:
ฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญมากชิ้นหนึ่งในวงดนตรีไทย มีหน้าที่ในการกำกับจังหวะแสดงให้เห็นถึงจังหวะหนักและจังหวะเบาของเพลง มีอำนาจในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แต่เนื่องจากยังขาดการศึกษาเรื่องราวของฉิ่งในแนวลึก ส่งผลให้ผู้วิจัยสนใจจะศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริงในเรื่องนี้ มีประเด็นสำคัญ คือ บริบทที่เกี่ยวข้องกับฉิ่งในดนตรีไทย และรูปแบบจังหวะฉิ่งที่ปรากฏ ผู้วิจัยทำการเก็บข้อมูลด้วยการค้นคว้าจากเอกสารทางวิชาการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และใช้ศูนย์ข้อมูลดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นฐานข้อมูลหลักในการอ้างอิง เพื่อค้นคว้าหารูปแบบจังหวะฉิ่งจากเพลงทั้งสิ้น 690 เพลง จากนั้นนำมาเรียบเรยงให้เห็นรูปแบบของจังหวะฉิ่ง ผลการวิจัยพบว่าฉิ่งมีบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญมาก ปรากฏรูปแบบแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ จังหวะฉิ่งแบบปกติและจังหวะฉิ่งแบบพิเศษ จำนวน 18 แบบ ได้แก่ 1. จังหวะฉิ่งแบบอัตราสามชั้น 2. จังหวะฉิ่งแบบอัตราสองชั้น 3. จังหวะฉิ่งแบบอัตราชั้นเดียว 4. จังหวะฉิ่งแบบเถา 5. จังหวะฉิ่งแบบฉิ่งฉิ่งฉับ แบบที่ 1 6. จังหวะฉิ่งแบบฉิ่งฉิ่งฉับ แบบที่ 2 7. จังหวะฉิ่งแบบฝรั่ง 8. จังหวะฉิ่งอย่างเดียว แบบที่ 1 9. จังหวะฉิ่งอย่างเดียว แบบที่ 2 10. จังหวะฉิ่งอย่างเดียว แบบที่ 3 11. จังหวะฉิ่งอย่างเดียว แบบที่ 4 12. จังหวะฉับอย่างเดียว 13. จังหวะฉิ่งลอย 14. จังหวะฉิ่งแบบเพลงโอ้ 15. จังหวะฉิ่งแบบชาตรี 16. จังหวะฉิ่งแบบเพลงเย้ย 17. จังหวะฉิ่งแบบเพลงเอกบท 18. จังหวะฉิ่งแบบเพลงช้าปี่