Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาประวัติความเป็นมา กระบวนท่ารำ กลวิธี ในการรำ รวมถึงวิเคราะห์ท่ารำเพลงหน้าพาทย์เสมอในการแสดงละครพันทางและบริบททางสังคม โดยเลือกศึกษาเฉพาะกระบวนท่ารำที่สืบทอดโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ และเฉพาะกระบวนท่ารำที่เกิดขึ้นในยุคกรมศิลปากรโดยศึกษา จากเอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกตุการณ์ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ผลการวิจัยพบว่า เพลงเสมอในการแสดงละครพันทาง หรือ เพลงเสมอออกภาษา คือ เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงเพื่อประกอบกิริยาการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในระยะใกล้ ของตัวละครตามเชื้อชาตินั้นๆ นอกจากนี้ยังเป็นเพลงที่โบราณจารย์ทางด้านดุริยางคศิลป์ไทยคิดประดิษฐ์ ขึ้น โดยศึกษาเพลงดนตรีของชาติต่างๆแล้วแต่งทำนองขึ้นโดยใช้ทำนองอย่างไทย แต่ดัดแปลงให้มี สำเนียงออกภาษาตามเชื้อชาติ ซึ่งพบว่าเพลงเสมอออกภาษาที่ปรากฏใช้ในการแสดงละครพันทาง ของกรมศิลปากรมี 5 เพลง ได้แก่ เพลงเสมอลาว ในละครเรื่องพระลอ และขุนช้างขุนแผน เพลงเสมอพม่า ในละครเรื่องราชาธิราช ผู้ชนะสิบทิศ ศึกเก้าทัพ และตะเลงพ่าย เพลงเสมอมอญ ในละครเรื่องราชาธิราช และผู้ชนะสิบทิศ เพลงเสมอแขกในละคร เรื่องอิเหนา อาบูฮะซัน และพระอภัยมณี เพลงเสมอชวา ในละครเรื่องอิเหนา กระบวนท่ารำเพลงเสมอออกภาษา แบ่งตามโครงสร้างของการบรรเลงดนตรีได้ 3 ช่วง คือ ไม้เดิน ไม้ลา และรัว ซึ่งแต่ละเพลงมีลักษณะท่ารำที่เชื่อมโยงมาจากการรำแม่บทใหญ่และลักษณะ ท่ารำที่เลียนแบบมาจากนาฏยศิลป์นานาชาติตามเชื้อชาติของตัวละคร รวมทั้งมีลักษณะเด่นที่บ่งบอก เชื้อชาติได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กระบวนท่ารำเพลงเสมอออกภาษาทุกเพลง พบว่ามีหลักและวิธีการ ปฏิบัติที่ตรงกัน คือ การถ่ายน้ำหนักลำตัวไปตามการก้าวเท้า รวมถึงการเอียงศีรษะ กดเอวกดไหล่ ไปตามการถ่ายน้ำหนักลำตัวด้วย งานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้เป็นตำราทางวิชาการ อันเป็นประโยชน์ต่อครู นาฏยศิลปิน และ บุคลากรทางด้านนาฏยศิลป์ไทย เพื่อเป็นแนวทางในการแสดงและการศึกษาต่อไป