Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงสาระสำคัญและแนวทางการดำเนินการของประเทศไทย ในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความคุ้มกันของรัฐและทรัพย์สินของรัฐจากเขตอำนาจศาล ค.ศ. 2004 เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่บัญญัติในเรื่องความคุ้มกันของรัฐ โดยทำการศึกษา ในประเด็นที่สำคัญ 6 ประเด็น ดังต่อไปนี้ 1.รัฐที่ได้รับความคุ้มกัน 2.กิจกรรมของรัฐ 3.ทรัพย์สินของรัฐที่ได้รับความคุ้มกัน 4.รูปแบบของความคุ้มกันของรัฐ 5.การสละความคุ้มกันของรัฐ และ 6.การบังคับคดีต่อทรัพย์สินของรัฐโดยเป็นการศึกษาจากข้อบทของอนุสัญญาฯ คำอธิบายของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ และศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายภายในของต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มกันของรัฐและทรัพย์สินของรัฐ ตลอดจนศึกษาแนวคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ทั้งที่เข้าร่วมเป็นภาคีและไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคี ของอนุสัญญาฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ประเทศไทยในการออกกฎหมายภายในรองรับ ผลจากการศึกษาพบว่าการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดผลดีแก่ประเทศไทย ในการบัญญัติกฎหมายภายในเกี่ยวกับความคุ้มกันของรัฐ ซึ่งจะเป็นการสร้างความชัดเจนให้แก่ศาลไทยใน การพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐต่างประเทศ และยังเป็นการคุ้มครองเอกชนไทยที่ทำธุรกรรมในเชิงพาณิชย์ กับรัฐต่างประเทศในการใช้สิทธิทางศาล เป็นต้น