Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาการละเล่นพื้นบ้านที่มีอิทธิพลต่อแนวความคิด รูปแบบ องค์ประกอบของการแสดงและบริบททางสังคมกับนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ชุด “ละครไทย พ.ศ. 2533” ผลงานออกแบบนาฏยศิลป์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.นราพงษ์ จรัสศรี ด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพทางนาฏยศิลป์ โดยใช้เครื่องมือที่สร้างและตรวจสอบคุณภาพในการเก็บข้อมูล จากนั้นนำข้อมูลมาจัดกระทำ วิเคราะห์และนำเสนอ พบว่าระดับการแปลความหมาย (Translation) ในการสื่อสารตามหลักภาษาไทยมี 2 ระดับ คือ ความหมายตรงและความหมายโดยนัย ซึ่งระดับกรแปลความหมายข้างต้นนี้สามารถนำมาจำแนกองค์ประกอบ ของการละเล่นพื้นบ้านไทยในงานนาฏยศิลป์ ได้แก่ 1) เอกลักษณ์ 2) สถานที่ 3) อุปกรณ์ 4) เครื่องแต่งกาย 5) ดนตรีและเพลง 6) กติกาหรือวิธีการเล่น 7) รูปแบบ 8) หลักทัศนศิลป์ 9) องค์ประกอบศิลปะ องค์ประกอบเหล่านี้มีอิทธิพลต่อนาฏยศิลป์ 2 ข้อ คือ 1. แนวความคิดส่งผลให้เกิดรูปแบบ เรียกว่า “นาฏยศิลป์การละคร” (Dance and Theatre) 2. มีอิทธิพลต่อองค์ประกอบของนาฏยศิลป์การแสดง ดังนี้ 1) เนื้อหาวรรณกรรม : ความคิดรวบยอด (Concept) และแก่นของเรื่อง (Theme) แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของการละเล่นพื้นบ้าน 2) ตัวละคร : ผลที่พบในประเภทตัวละคร เรียกว่า “ตัวละครไทย” 3) ดนตรีและเสียง : ตัวละครไทยบรรเลงเครื่องดนตรี เช่น สีซอ ตีขิม ส่วนเสียงที่พบคือเสียงบรรเลงขลุ่ย และตีกลองยาว 4) อุปกรณ์ประกอบการแสดง : อุปกรณ์ที่เป็น “ผ้า” สำหรับการละเล่นมอญซ่อนผ้า และ “เชือก” อุปกรณ์ในการชักเย่อและกระโดดเชือก 5) เครื่องแต่งกาย : ลักษณะสวมใส่ด้วยวิธีนุ่งโจงกระเบนห่มสไบ และทัดดอกไม้ที่หู 6) ฉากและเวที : ถูกจัด ให้มีอาคารบ้านเรือนที่มีบริเวณที่เรียกว่า “ใต้ถุน” และส่วนพื้นที่ ถูกจัดให้เป็นลานกว้างเพื่อกิจกรรมการละเล่น 7) เทคนิคแสง : การใช้สีเหลืองแดงวรรณะร้อน (Warm Tone) การใช้เงาและความมืดเพื่อสร้างบรรยากาศ 8) ลีลาการเคลื่อนไหว : แบ่งออกเป็น 3 ระดับ โดยแสดงรูปแบบการละเล่นพื้นบ้าน ดังนี้ (1) ลอกเลียนแบบ เช่น กระโดนเชือก งูกลืนหาง ขี่ม้าส่งเมือง (2) ดัดแปลง ประยุกต์ เช่น มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร และ (3) สร้างสรรค์ เชื่อมโยงสัมพันธ์ เช่น ชักเย่อ กระต่ายขาเดียว เป็นต้น จากการศึกษาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงบริบททางสังคมที่เกิดขึ้น และองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการศึกษา คือ หลักการสร้างสรรค์และออกแบบของศิลปิน และรูปแบบนาฏยศิลป์ที่หลายหลายของศาสตราจารย์ ดร.นราพงษ์ จรัสศรี