Abstract:
โรงพยาบาลชั้นนำมีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษโดยเฉพาะเรื่องระดับการรักษาพยาบาล ระดับการให้บริการ ระดับคุณภาพ และอาคารสถานที่ โดยมีอัตราค่าบริการที่ค่อนข้างสูง ทั่วไปมักพบว่าโรงพยาบาลระดับนี้มีอาคารสถานที่ที่มีความสวยงามโดดเด่นแตกต่าง จึงสะท้อนความสำคัญของปัจจัยด้านกายภาพที่มีต่อการดำเนินธุรกิจของโรงพยาบาลรวมถึงการบริหารและจัดการทางด้านภายภาพ ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะเฉพาะทางกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกของโรงพยาบาลชั้นนำ รวมถึงระบบการบริหารทรัพยากรกายภาพของโรงพยาบาลชั้นนำ การศึกษานี้ใช้แนวทางศึกษาแบบหลายกรณีศึกษา (Multi case study) โดยกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง ได้กลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์การศึกษาจำนวน 4 กรณีศึกษา ได้แก่ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช และโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์สืบค้นเอกสาร และสำรวจ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์และอภิปรายผล จากการศึกษาพบว่าโรงพยาบาลชั้นนำกรณีศึกษาลักษณะทางกายภาพที่ได้รับการตกแต่ง ออกแบบสวยงาม ใช้วัสดุชั้นดีและหลากหลายในการตกแต่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกร้านค้าที่นอกเหนือจากบริการทางการแพทย์ครอบคลุมไปถึงความจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน ห้องพักผู้ป่วยมีหลากหลายระดับ มีสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักผู้ป่วยครบครัน สิ่งอำนวยความสะดวกร้านค้าที่มากกว่าบริการทางการแพทย์ ได้แก่ ธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร ร้านขายกาแฟและเบเกอรี่แบรนด์ระดับสากล ร้านดอกไม้ ร้านขายของเยี่ยม ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับแม่และเด็ก ร้านขายหนังสือ ร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านเสริมสวย เคาน์เตอร์เครื่องสำอาง และร้านขายอุปกรณ์เสริมสำหรับโทรศัพท์มือถือและสินค้าไอที ห้องพักผู้ป่วยพบเป็น 3 ระดับ คือ ระดับพิเศษมาก ระดับพิเศษ และระดับมาตรฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในห้องพักผู้ป่วยทุกระดับ ได้แก่ ชุดโต๊ะรับประทานอาหาร, เตียงไฟฟ้าและ โต๊ะคร่อมเตียง, ปุ่มกดเรียกพยาบาล, ทีวีพร้อมสัญญาณดาวเทียม, โซฟารับแขกปรับนอนได้, โต๊ะรับแขก, เก้าอี้นั่งข้างเตียง, โทรศัพท์, ตู้เซฟ, ตู้เสื้อผ้า, ตู้เย็น, ไมโครเวฟ, กระติกน้ำร้อน, ชุดภาชนะ, ชุดชา กาแฟ และเครื่องดื่ม, ห้องน้ำและ Amenity Set และ ราวตากฟ้า โดยห้องพักระดับพิเศษและพิเศษมากจะมีขนาดพื้นที่ห้องที่มากขึ้นตามลำดับ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับญาติที่เพิ่มมากขึ้น
โรงพยาบาลชั้นนำกรณีศึกษามีลักษณะการใช้งานอาคารทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ใช้งานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ใช้งานประจำ และผู้ใช้งานเป็นครั้งคราว การบริหารทรัพยากรกายภาพของโรงพยาบาลชั้นนำกรณีศึกษามีขอบเขตงานเน้นเรื่องการดูแลกอาคารสถานที่เป็นส่วนใหญ่ โดยพบว่ามีขอบเขตงานด้านการดูแลเครื่องมือแพทย์ในบางกรณี การดำเนินงานระดับปฏิบัติการพบว่า งานที่โรงพยาบาลดำเนินการเองเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ งานบริหารโครงการ งานยานพาหนะ งานบริการกลาง งานที่โรงพยาบาลดำเนินงานโดยจ้างบริษัทภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ งานบำรุงรักษาและงานซ่อม งานดูแลสวนและภูมิทัศน์ งานบริการผ้า งานโภชนาการ งานบริการกำจัดแมลง งานบริการรับฝากรถยนต์ และงานขนย้าย จัดสถานที่ งานที่โรงพยาบาลดำเนินการเองร่วมกับจัดจ้างบริษัทภายนอก ได้แก่ งานรักษาความปลอดภัย งานรักษาความสะอาด เป็นต้น การจัดโครงสร้างหน่วยงานด้านบริหารทรัพยากรกายภาพจัดตามประเภทงานแบ่งออกเป็นแผนก/หน่วยงาน โรงพยาบาลชั้นนำกรณีศึกษามีการจัดการด้านความเสี่ยง ในด้านความปลอดภัย สุขอนามัย และอุบัติภัย การจัดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรภายภาพ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งบประมาณค่าใช้จ่ายอาคาร และงบประมาณเพื่อการลงทุนที่เกี่ยวกับอาคารสถานที่ โรงพยาบาลชั้นนำกรณีศึกษาได้กำหนดให้มีตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของงานระดับปฏิบัติการพบว่าเน้นการวัดประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน (Operation / Service Performance) และวัดประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน (Environment Health & Safety (EHS) Performance) เป็นสำคัญ จากการศึกษาสรุปได้ว่า การบริหารทรัพยากรกายภาพของโรงพยาบาลชั้นนำกรณีศึกษาเน้นการสนับสนุนบริการทางการแพทย์ไม่ให้เกิดการสะดุดติดขัด การบริการที่เป็นเลิศ อาคารสถานที่ต้องได้มาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพสูง อาคารสถานที่มีสภาพที่ดี พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และเป็นอาคารที่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน มีขอบเขตงานด้านการดูแลอาคารสถานที่ทางกายภาพเป็นสำคัญ การจัดหาผู้ปฏิบัติงานระดับปฏิบัติการจะดำเนินการโดยจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทภายนอกมาดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ โครงสร้างหน่วยงานจัดงานตามหน้าที่ ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านความเสี่ยง และ การวัดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานโดยการกำหนดตัวชี้วัดในงานระดับปฏิบัติการอาคาร