Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงบทบาทของพนักงานอัยการในการสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 32 ที่บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการหรืออัยการทหารเข้าร่วมสอบสวนหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อตรวจสอบและให้คำแนะนำพยานหลักฐานว่ามีบทบาทประการใดในการเข้าร่วมสอบสวน มีความคาบเกี่ยวกับอัยการสำนักงานคดีอื่นเช่นไร เมื่อเปรียบเทียบกับอัยการในระบบสากลแล้วบทบาทของอัยการไทยมีการพัฒนาก้าวหน้าแค่ไหน และเมื่ออัยการเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษแล้วมีปัญหาและอุปสรรครวมถึงผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมเช่นไร โดยหลักแล้วการสอบสวนคดีอาญาซึ่งเป็นต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน แต่การกระทำความผิดคดีพิเศษมีลักษณะพิเศษมากกว่าการกระทำความผิดในอาชญากรรมธรรมดา กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และในบางครั้งผู้กระทำความผิดรวมตัวเป็นกลุ่มหรือองค์กรอาชญากรรมมีลักษณะการกระทำความผิดซับซ้อน แยบยลและละเอียดอ่อน นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นเครื่องมือในการประกอบความผิด ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เนื่องจากขาดความรู้ ความชำนาญ ดังนั้นถ้าให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมสอบสวนด้วยแล้วจะทำให้สำนวนมีความกระชับขึ้น มีความสมบูรณ์เพราะพนักงานอัยการมีหน้าที่ว่าความในศาล อย่างไรก็ดีการให้พนักงานอัยการหรืออัยการทหารเข้ามาร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษให้อัยการมีบทบาทในการสอบสวนที่พึงประสงค์เหมือนอัยการในระบบสากลนั้นต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายและระเบียบการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวจ้องกับการสอบสวน ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของอัยการในการเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคดีพิศษ เมื่อมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบาทของอัยการในรูปแบบที่พึงประสงค์แล้ว ก็จะทำให้อัยการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มีการดำเนินคดีอาญาอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับอัยการระบบสากลมากยิ่งขึ้น