Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาลักษณะเฉพาะท่ารำอากาศตไล ซึ่งเป็นยักษ์ผู้ชายผสมผสานกับยักษ์ผู้หญิง วิธีการวิจัย ใช้การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์โขนตัวอากาศตไล แล้วนำกระบวนท่าทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของท่ารำที่เป็นรูปแบบของยักษ์ผู้ชายและยักษ์ผู้หญิง ตลอดจนการแต่งกายของอากาศตไลที่มีลักษณะแตกต่างจากยักษ์ตนอื่นที่ปรากฏในเรื่องรามเกียรติ์ โดยข้อมูลจากครู 3 ท่าน คือ นายทองเริ่ม มงคลนัฏ นายหยัด ช้างทอง และนายราฆพ โพธิเวส ผลการวิจัยพบว่า อากาศตไลคือยักษ์เสื้อเมืองที่มีกระบวนท่ารำที่ปรากฏในการแสดงโขนที่เด่นชัด คือ การรำตรวจพล การรำกระบวนท่ารบกับหนุมาน ซึ่งปรากฏอยู่ในการแสดงโขนตอน สืบมรรคา รูปแบบกระบวนท่ารำของครู 3 ท่านดังนี้ 1.ท่ารำตรวจพลของ นายทองเริ่ม มงคลนัฏ และนายหยัด ช้างทอง มีกระบวนท่าเหมือนกัน ใช้อาวุธประกอบการรำคือหอก ของนายราฆพ โพธิเวส กระบวนท่ารำแตกต่างจากครู 2 ท่าน และใช้อาวุธประกอบการรำ คือ กระบอง 2.การรำกระบวนท่ารบกับหนุมานของ นายทองเริ่ม มงคลนัฏ และ นายหยัด ช้างทอง คล้ายคลึงกับใช้อาวุธประกอบการรำคือกระบวน สำหรับทำเฉพาะของครู 3 ท่าน มีลักษณะเดียวกัน คือ การจับอก จับก้น ของ หนุมาน และการเขินอาย สะบัดค้อน ของอากาศตไล เป็นต้น ผู้แสดงอากาศตไลต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกหัดเบื้องต้นขั้นพื้นฐานของตัวยักษ์ผู้ชายตามขั้นตอนแล้วจึงฝึกหัดบทบาทเฉพาะของอากาศตไล เพื่อใช้ในการแสดงที่มี 2 รูปแบบ คือ โขนหน้าจอและโขนฉาก ใช้วงปีพาทย์เครื่องห้า บรรเลงเพลงกราวในสำหรับการรำตรวจพล เพลงเชิด ในการรำกระบวนท่ารบ มีบทพาทย์เจรจาในอารมณ์โกรธที่ใช้ในการต่อสู้กับหนุมาน อากาศตไลมีรูปแบบการแต่งกายที่ปรากฏในการแสดงอยู่ 2 รูปแบบคือ การนุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่สวมสนับเพลา และการนุ่งผ้าจีบน้านาง สวมเสื้อแขนยาวสีส้ม สวมผ้าห่มชายปีกกาทั่วไปของตัวนางยักษ์และสวมเครื่องประดับของตัวนาง การแสดงโขนของอากาศตไล ไม่ค่อยได้รับความนิยมออกแสดงเนื่องจากมีบทบาทน้อย และกระบวนท่ารำที่ผสมผสานกันระหว่างยักษ์ผู้ชายและผู้หญิง ยังไม่ได้มีการสืบทอดที่ชัดเจน และบุคลิกลักษณะตลอดจนรูปร่างของผู้แสดงอากาศตไลหาได้ยาก จึงควรได้รับการศึกษาเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดต่อไป