Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการแสดงกับพิธีกรรมของชวาในการแสดงละครในเรื่อง อิเหนา ตอน ดรสาแบหลา บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 โดยเลือกศึกษาการรำดรสาแบหลาประเภทรำเดี่ยว การวิจัยนี้ใช้วิธีศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์การสังเกตจากวีดิทัศน์ การฝึกหัด รวมทั้งประสบการณ์จากการแสดงของผู้วิจัย ผลการวิจัยพบว่าการรำเดี่ยวชุดดรสาแบหลาหรือรำกริชดรสาเกิดขึ้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นการแสดงที่มีจุดมุ่งหมายในการสื่อเรื่องแนวความเชื่อของพิธีกรรมการฆ่าตัวตายด้วยกริช ที่เรียกว่า พิธีแบหลา ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ชวาได้รับแนวคิดนี้จากพิธีสตีของฮินดูอีกทอดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้รูปแบบการแสดงจึงผสมผสานวัฒนธรรมฮินดู - ชวา รวมทั้งวัฒนธรรมราชสำนักไทยด้วยอีกแนวทางหนึ่ง เนื้อหาของพิธีกรรมพบจากวิถีชีวิตของคนในสังคมอินเดียโบราณ ซึ่งพิธีกรรมนี้วรรณกรรมไทยได้รับอิทธิพลจากชวาและนำมาถ่ายทอดในการแสดงละครในของกรมศิลปากร มีลักษณะร่วมกัน 3 ส่วนประกอบด้วยขั้นตอนแรก การเตรียมตัวตายได้แก่ การอาบน้ำและแต่งตัว ขั้นตอนที่สอง ก่อนฆ่าตัวตายจะสั่งลาผู้มีพระคุณ ญาติ หรือบริวาร ขั้นตอนสุดท้าย การฆ่าตัวตาย ด้วยการกระโดดเข้ากองไฟ เนื้อหาในพิธีกรรมดังกล่าวพบได้ในการแสดงละครและรำเดี่ยวของนางดรสาในเรื่อง อิเหนา โดยเฉพาะการรำเดี่ยวจะเน้นขั้นตอนก่อนฆ่าตัวตายและการฆ่าตัวตายเป็นส่วนสำคัญของการแสดง องค์ประกอบในการรำประกอบด้วยการคัดเลือกผู้แสดงที่มีทักษะแม่นยำทั้งกระบวนท่ารำ จังหวะ และที่สำคัญคือ มีปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นในขณะแสดง เพราะผู้แสดงต้องมีความชำนาญในการใช้อาวุธท่าต่างๆ และมีความแม่นยำในจังหวะเพลงหลายเพลงที่ผสมผสานระหว่างเพลงที่มีสำเนียงแขกและสำเนียงไทย มีการใช้อารมณ์แบบผสมผสานระหว่างอารมณ์อาลัยรัก โศกเศร้าเสียใจ และกล้าหาญเด็ดเดี่ยว การแต่งกายมี 2 แบบ คือ แบบยืนเครื่องนางและแบบชวา แต่นิยมแต่งแบบยืนเครื่องนาง เพราะแสดงแบบละครหลวงมากกว่าแบบชวา จากการศึกษากระบวนท่ารำทั้ง 3 ฉบับ พบว่า ลักษณะกระบวนท่ารำแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก เป็นการรำประกอบเพลงหน้าพาทย์ และรำตีบทเพื่อเดินทางเข้าสู่พิธี ช่วงกลางและช่วงท้ายเป็นการรำประกอบทำนองเพลงหลายเพลงเพื่ออวดชั้นเชิงการใช้อาวุธ ก่อนเข้าสู่พิธีกรรมฆ่าตัวตายโดยรำแบบถือกริชและแบบไม่ถือกริช ท่ารำประกอบด้วย ท่าเดี่ยว ท่าคู่ ท่าชุด และท่าเชื่อมลักษณะเด่นของท่ารำเน้นรำอาวุธที่แสดงพลังเข้มแข็งแต่ก็ไม่แข็งกร้าวจนเกินไปเพราะโครงสร้างร่างกายของตัวนางในการรำเปิดเข่า ย่อเข่า และกดเกลียวข้างช่วยให้ท่ารำอาวุธแลดูนุ่มนวลมากขึ้นกลวิธีการรำเน้นที่การใช้พลังส่วนแขนและมือกับส่วนขาและเท้า รำเวียนทางซ้ายแล้วหยุดรำจนครบ 4 ทิศ วิธีการรำในแต่ละฉบับจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่จะแตกต่างกันในรายละเอียดต่าง ๆ กล่าวคือ ลักษณะที่เหมือนกันได้แก่ ขั้นตอนการแสดงและท่ารำหลัก ลักษณะที่แตกต่างกัน ได้แก่ ลำดับและปริมาณเพลง ลำดับและปริมาณท่ารำ และทิศทางการยืนหันหน้าเข้าสู่พระเมรุ โดยมีทั้งการยืนหันลำตัวเข้าหาพระเมรุ การยืนหันข้างเข้าสู่พระเมรุ และการยืนหันหลังให้พระเมรุ มีการใช้สายตามองไปที่จุดใดจุดหนึ่งเพื่อให้สัมพันธ์กับท่ารำและพิธีกรรม ความแตกต่างดังกล่าวมาจากปัจจัยด้านโอกาส เวลา และสถานที่แสดง ส่วนลีลาการรำจะมีกลวิธีการใช้ศีรษะ ไหล่ ลำตัว มือ และเท้าที่แตกต่างกันบ้างตามภูมิหลังและประสบการณ์ของผู้แสดง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รำดรสาแบหลาเป็นการแสดงที่ไม่ค่อยนิยมนำมาแสดงกันมากนัก เพราะแนวคิดของการแสดงนำเสนอการฆ่าตัวตายซึ่งไม่เป็นสิริมงคลต่อสังคม อย่างไรก็ดีการแสดงชุดนี้นับว่ามีคุณค่าต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง เพราะเป็นงานที่บ่งบอกถึงมิติทางประวัติศาสตร์นาฎยศิลป์ของชนชาติไทยได้อย่างชัดเจน อีกทั้งนาฎยลักษณ์แบบหลวงชั้นสูงอันโดดเด่นของงานทำให้สถาบันการศึกษาอุดมศึกษานำไปใช้สอนในหลักสูตรและใช้ประโยชน์ด้านนาฎยประดิษฐ์ได้อีกด้วย