Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา รวมถึงระดับอิทธิพลของมหาวิทยาลัยและปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในพื้นที่ศึกษา ตลอดจนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการขยายตัวของชุมชน และเพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาชุมชนโดยรอบของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อเป็นแนวทางในการรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยอื่นๆ และชุมชนโดยรอบในอนาคต โดยทำการศึกษาจากการสำรวจและการแปลภาพถ่ายทางอากาศ ตลอดจนการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชากรมหาวิทยาลัยที่มีความสัมพันธ์กับชุมชน ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) ตามสูตรการคำนวณขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่พอดีของ Yamane (1973) ในการประมาณค่าพารามิเตอร์ ที่ระดับนัยสำคัญ0.05 โดยได้กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน500 ชุด ทั้งนี้เพื่อศึกษาเปรียบเทียบช่วงเวลาก่อนการก่อตั้งมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน และแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาทั้งทางด้านกายภาพเศรษฐกิจ สังคม และแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม สำหรับชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยในอนาคต ผลการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคมในตำบลศาลายาได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ (1) แนวโน้มการขยายตัวของที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตต่อเมืองฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครทำให้มีการขยายตัวของเขตเมืองสู่พื้นที่ชานเมืองรอบ นอกในอำเภอพุทธมณฑลมากขึ้น (2) การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมสายหลักที่เชื่อมต่อกับเขตเมืองของกรุงเทพมหานครส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ศักยภาพพื้นที่และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโดยเกิดชุมชนใหม่ในลักษณะบ้านจัดสรรในบริเวณที่ถนนตัดผ่าน ได้แก่ ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ถนนกาญจนาภิเษก ถนนเพชรเกษม และกรุงนนท์-จงถนอม (3) ผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ.2544 กำหนดให้ชุมชนศาลายามีบทบาทเป็นชุมชนระดับรองมีหน้าที่ทางด้านการศึกษาและพักอาศัย (4) เขตอิทธิพลของย่านการค้าปิ่นเกล้าที่เป็นศูนย์ กลางรวมของเมืองมีเขตอิทธิพลครอบคลุมถึงพื้นที่ตำบลศาลายาก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรระหว่างพื้นที่สำหรับปัจจัยภายในพื้นที่ ได้แก่ (1) พัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายาได้สร้างแรงดึงดูดให้เกิดการลงทุนก่อสร้างที่พักอาศัย ร้านค้า ร้านอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับมหาวิทยาลัย มีผลต่อการขยายตัวของการใช้ที่ดินประเภทที่พักอาศัย และพักอาศัยถึงพาณิชยกรรมในลักษณะของโครงการบ้านจัดสรร หอพัก และอาคารพาณิชย์ ตามแนวถนนศาลายา-นครชัยศรี รูปแบบวิถีชีวิตเปลี่ยนจากชุมชนเกษตรกรรมเป็นแบบชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยที่ทำหน้า ที่เป็นตัวแทนศูนย์กลางทางการศึกษาระดับสูงของชุมชน (2) การเปลี่ยนแปลงประชากรของประชากรในชุมชนศาลายาและประชากรมหาวิทยาลัยที่ ก่อให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่องในภาคบริการที่มีแนวโน้มสูงขึ้น (3) นโยบายและแผนพัฒนาเทศบาลตำบลศาลายามุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อ พัฒนาศักยภาพในการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยในการรองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ชุมชนศาลายาเป็นพื้นที่ที่มี แนวโน้มการขยายตัวสูงในอนาคต ฉะนั้นการที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่เมืองของกรุงเทพมหานครจึงไม่สามารถวิเคราะห์อิทธิพลของ มหาวิทยาลัยต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตำบลศาลายาและบทบาทในการเป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่มีหน้าที่ในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โดย รอบของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายาได้อย่างเด่นชัด ดังนั้นเพื่อให้มหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สอดคล้องและ ตอบสนองต่อการขยายตัวในอนาคตจึงควรกำหนดให้ชุมชนศาลายามีบทบาทเป็นชุมชนเมืองที่ให้บริการทางด้านการศึกษา การศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนการค้าเพื่อรองรับการขยายตัวด้านที่อยู่อาศัยจากกรุงเทพมหานคร โดยให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบศูนย์กลางเดียวและมีรูปแบบ คมนาคมทั้งทางถนน และรถไฟรองรับ