Abstract:
เพลงทยอยเดี่ยวจัดเป็นเพลง “สุดยอดของเพลงเดี่ยว” เพลงหนึ่งเดิมที่พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกรู) “เจ้าแห่งเพลงทยอย” ได้แต่งขึ้นสำหรับเดี่ยวปี่อวดฝีมือ โดยเฉพาะ ต่อมาภายหลัง ครูบาอาจารย์ทางดนตรีไทยหลายๆ ท่านจึงได้นำมาประดิษฐ์เป็นทางเดี่ยวของเครื่องดนตรีอื่นๆ สำหรับ “จะเข้” นั้น ยังไม่มีผู้ใดได้คิดประดิษฐ์ทำนองเป็นทางจะเข้ขึ้นอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ผศ.ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน ผู้ซึ่งถึงพร้อมด้วยความเป็นศิลปิน จึงได้คิดประดิษฐ์ทางจะเข้นี้ขึ้นเพื่อประดับวงการดนตรีไทยและเป็นมรดกทางวิชาการด้านดนตรีไทยสืบต่อไป งานวิจัยฉบับนี้มุ่งศึกษาสังคีตลักษณ์วิเคราะห์เพลงทยอยเดี่ยวทางจะเข้ผลงานการประพันธ์ของ ผศ.ปกรณ์ รอดช้างเผื่อนตลอดจนศึกษาประวัติชีวิตและผลงานของผศ.ปกรณ์ รอดช้างเผือน ผลการวิจัยพบว่า 1. ลักษณะท่วงทำนองของเพลงทยอยเดี่ยวเป็นเพลงประเภทสองไม้ที่แสดงอารมณ์เศร้าและคร่ำครวญ อย่างผิดหวังได้อย่างวิเศษในช่วงทำนองโอดและตอนท้ายจึงเปลี่ยนเป็นทำนองพันระคนครวญแสดงถึงอาการ ละล้าละลังอัดอั้นตันใจ ซึ่งทำนองโอดและทำนองพันนั้นมีความแตกต่างจากกันโดยสิ้นเชิง ด้วยมิได้นำทำนองโอดนั้นมาทำเป็นทำนองพันเหมือนเช่นเพลงเดี่ยวอื่นๆ 2. ลักษณะโครงสร้างของเพลงทยอยเดี๋ยวนั้นมีคุณลักษณะพิเศษประกอบด้วย “ทำนองโยน” เป็นส่วน ใหญ่จึงนับเป็นโอกาสให้ผู้บรรเลงและผู้ประพันธ์ได้คิด “ประดิษฐ์” พลิกแพลง ทำนองโยนนั้นตามความรู้ ความสามารถเพื่อฉายภูมิแห่งดนตรีการของแต่ละบุคคล ซึ่งผศ.ปกรณ์ รอดช้างเผื่อนได้ใช้โอกาสนี้นำเทคนิคกลวิธีพิเศษต่างๆ ของการบรรเลงจะเข้มาร้อยกรองท่วงทำนองให้ถึงพร้อมความงามและความไพเราะได้อย่างสมบูรณ์ถึงแม้ว่าจะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่มีคุณลักษณะที่ยากต่อการบรรเลงเพลงประเภทนี้ 3. ผลงานการประดิษฐ์ท่วงทำนองในเพลงทยอยเดี่ยว ทางจะเข้ของผศ.ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน นั้นได้พบ สำนวนที่คล้ายคลึงกับสำนวนเกี่ยวของเพลงเดี่ยวต่างๆผสมผสานอยู่ด้วยกันหลายสำนวน เช่น เดี่ยวกราวใน เดี่ยวเชิดนอกและเพลงทยอยใน 4. จากการศึกษาประวัติและผลงานของผศ.ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นศิลปินผู้ประกอบด้วยจรรยาพรรณแห่งศิลปินอีกทั้งผลงานต่างๆที่ได้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ไว้นั้นเป็นผลอันเนื่องมาจากการปลูกฝังด้านดนตรีไทยมาจากครอบครัวตั้งแต่อดีตและได้ศึกษาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันซึ่งมีผลงานนั้นเป็นที่ยอมรับจากบุคคลทั่วไป