Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาปัจจัยและบริบททางประวัติศาสตร์ของการที่อังกฤษเข้ามาปกครองเกาะชวา นอกจากนี้ยังมีบทบาทและนโยบายของแสตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ รวมไปถึงทัศนคติและปฏิกิริยา ของคนพื้นเมืองที่มีต่อนโยบายที่แรฟเฟิลส์ใช้ในการปกครองเกาะชวา จากการศึกษาพบว่า การเข้ามาปกครองเกาะชวาของอังกฤษนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงคราม เจ็ดปี และสงครามนโปเลียน ที่ส่งผลกระทบมาสู่ดินแดนในบริเวณคาบสมุทรมาเลย์ และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก รวมไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้าระหว่างรัฐบาลอังกฤษที่ เบงกอลกับจีน ซึ่งแรฟเฟิลส์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลที่ลอนดอนและเบงกอลดำเนินนโยบายเพื่อเข้ามาปกครองเกาะชวา นโยบายที่แรฟเฟิลส์ใช้ในการปกครองเกาะชวาเป็นความพยายามกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมชวาจากเดิมที่เคยได้รับความลำบากจากการกดขี่ของเจ้าหน้าที่ดัตช์ และบรรดาชนชั้นนำในชวา ไปสู่การทำให้ชาวชวามีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของอังกฤษ โดยการใช้นโยบายลดบทบาทของผู้นำชาวพื้นเมืองและการนำระบบการปกครองโดยตรงมาใช้ อีกทั้งยัง ยกเลิกการเกณฑ์แรงงาน และที่สำคัญคือการนำระบบการเช่าที่ดินมาใช้ ซึ่งแม้มีการต่อต้านจากบรรดาเจ้า ชาวพื้นเมืองอยู่บ้าง แต่แรฟเฟิลส์ได้ใช้ทั้งมาตรการรุนแรงและการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และ เพื่อรักษาความสงบภายในเกาะชวาและดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครอง ในส่วนประชาชนแม้จะไม่พอใจ แต่ไม่ได้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกันผลประโยชน์ที่อังกฤษคาดว่าจะได้รับกลับไม่ได้ตามที่คาดหมายไว้ เมื่อฮอลันดากลับเข้ามาปกครองชวา ยังคงใช้นโยบายของแรฟเฟิลส์อยู่บ้างโดยปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ถือได้ว่าการปกครองเกาะชวาของแรฟเฟิลส์เป็นการเริ่มดำเนินนโยบายเพื่อ ตระหนักถึงสภาพของชาวพื้นเมืองมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในสังคมชวาในเวลาต่อมา