Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของเสฐียรโกเศศ จากนิทานที่นำมาศึกษาได้แก่ เรื่องอาหรับราตรี ซึ่งแปลมาจาก The Book of the Thousand Nights and a Night ของ Sir Richard F Burton เรื่อง ทศมนตรี ซึ่งแปลมาจาก The Ten Wazirs : or the H:story of king Azadbakht and His Son ซึ่งเป็นนิทานทีรวบรวมอยู่ใน Supplemental Nights to the Book of the Thousand and One Nights with Notes Anthropological and Explanatory ของ Sir Richard F Burton เรื่อง พันหนึ่งทิวา ซึ่งแปลมาจาก The Thousand and One Days; Persian Tales ของ Justin Huntly McCarthy และเรื่อง นิยายปาซาแห่งเตอรกี ซึ่งแปลมาจาก The Pacha of Many Tales ของ Captain Federick Marryat ในฐานะผู้ถ่ายทอดวรรณกรรมต่างสังคมและวัฒนธรรม เนื้อหาของอาหรับนิทานรวบรวมจากเรื่องเล่าพื้นถิ่นในดินแดนอาหรับตั้งแต่สมัยก่อนอิสลามจนถึงสมัยอิสลาม ลักษณะโครงเรื่องแบบนิทานซ้อนนิทานได้รับอิทธิพลจากนิทานอินเดีย แม้ว่าอาหรับนิทานจะดำเนินเรื่องบนพื้นฐานของวัฒนธรรมอาหรับ แต่เนื่องจากความเป็นนิทาน จึงทำให้เนื้อหาหลาย ๆ ตอน มิใช่พฤติกรรมที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม อันเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในดินแดนที่นับถือ นิทานเหล่านี้จึงไม่ได้รับความสนใจในวงวรรณกรรมอาหรับ แต่เมื่อถ่ายทอดอาหรับนิทานไปสู่โลกตะวันตก กลับได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อถ่ายทอดสู่สังคมไทย ผู้อ่านก็ชื่นชอบอาหรับนิทานเช่นกัน เนื่องจากเนื้อหาของอาหรับนิทานมีประเด็นของวัฒนธรรมอาหรับเข้ามาแทรกอยู่มาก จากลักษณะสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ผู้ถ่ายทอดทั้งฉบับภาษาอังกฤษและฉบับภาษาไทยจึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหรับ เพื่อถ่ายทอดงานให้เหมาะสมกับผู้อ่านในสังคมวัฒนธรรมของตน ผลงานการถ่ายทอดอาหรับนิทานของเสฐียรโกเศศจึงแตกต่างไปจากฉบับภาษาอังกฤษบ้าง เสฐียรโกเศศเห็นความสำคัญของการรู้จักและเข้าใจวัมนธรรมอื่นที่ต่างไปจากวัฒนธรรมของตน ท่านจึงพยายามประสานความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมอาหรับ ให้เข้ากับวรรณศิลป์ได้อย่างกลมกลืน