Abstract:
การกำหนดเหตุฉกรรจ์ในความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 มาตรา 335 ทวิ และมาตรา 336 ทวิ เป็นการกำหนดโทษให้หนักขึ้นโดยถือหลักคำนึกถึงผลของการกระทำ หลักคำนึงถึงจิตใจของผู้กระทำความผิด ตัวผู้กระทำความผิด และการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ทั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการลงโทษ นอกจากนั้นกฎหมายยังได้ คำนึงถึงเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบอีกด้วย อาทิเช่น วัตถุหรือตัวทรัพย์ที่ถูกกระทำ หรือสถานที่ที่ได้กระทำความผิด และโอกาสในการกระทำความผิด จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าการกำหนดเหตุฉกรรจ์ ยังไม่ครอบคลุมการกระทำความผิด โดยวัตถุแห่งการกระทำเป็นทรัพย์ที่มีราคาสูงก็ดี หรืออาวุธร้ายแรงก็ดี เช่น ปืนหรือวัตถุระเบิด รวมถึงการลักทรัพย์บุคคลผู้สูงอายุ บุคคลทุพพลภาพและเด็ก ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการลักทรัพย์ที่มีราคาสูงย่อมไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย และการลักทรัพย์ที่เป็นอาวุธร้ายแรงผู้กระทำความผิดย่อมนำไปใช้ในการก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในสังคมขึ้นได้ เช่น การก่อการร้าย ส่วนการลักทรัพย์ต่อบุคคล ผู้สูงอายุ บุคคลทุพพลภาพและเด็ก เป็นการกระทำที่ไม่มีมนุษยธรรม เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อีกทั้งในต่างประเทศการกำหนดเหตุฉกรรจ์ในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ กำหนดให้การกระทำตามลักษณะดังกล่าว ให้เป็นเหตุต้องรับโทษหนักขึ้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเป็นการศึกษาวิจัยเพื่อนำเสนอให้มีการกำหนดเงื่อนไขการกระทำดังกล่าวให้เป็นเหตุฉกรรจ์