Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเปรียบเทียบได้กับการวิจัยแบบทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจต่อระดับน้ำตาลในเลือดชนิด HbA1Cของพระภิกษุที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดยใช้แนวคิดการสร้างเสริมพลังอำนาจตามแหล่งพลังอำนาจทั้ง 7 ด้าน ของ Miller (2000) ตามกระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจของ Anderson และคณะ (1991) กลุ่มตัวอย่างคือ พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามสะดวก โดยจับคู่ให้มีคุณสมบัติคล้ายกันในเรื่อง อายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาเจ็บป่วย และระดับน้ำตาลในเลือดชนิด HbA1C สุ่มกลุ่มตัวอย่างที่จับคู่เข้าเป็นกลุ่มควบคุมหรือกลุ่มทดลองโดยการจับฉลาก แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 รูป รวมทั้งหมด 40 รูป กลุ่มควบคุม ได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มทดลอง ได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ จำนวน 4 ครั้งๆ ละ 1-3.5 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ ที่ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1) การสำรวจปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามแหล่งพลังอำนาจ 2) การวิเคราะห์ปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามแหล่งพลังอำนาจ 3 ) การสร้างพลังในการแก้ไขปัญหาและตั้งเป้าหมายพร้อมแนวทางในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 4 ) การเสริมสร้างแหล่ง
พลังอำนาจในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และ 5) การเสริมสร้างความมั่นใจและคงไว้ซึ่งพลังอำนาจ โดยมีแผนการสอน ภาพสไลด์ และ คู่มือ “อยู่กับเบาหวานอย่างไม่เป็นทุกข์” ที่ได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิเป็นสื่อในการดำเนินกิจกรรม เครื่องมือกำกับการทดลอง คือ แบบประเมินแหล่งพลังอำนาจ ซึ่งมีค่าความตรงตามเนื้อหา เท่ากับ .80 ค่าความเที่ยง .84 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกระดับน้ำตาลในเลือด โดยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดชนิด HbA1C ตรวจสอบความเที่ยงด้วยการวัดซ้ำ (Test- retest) พบว่ามีความสัมพันธ์กัน r = .99 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติเชิงบรรยาย และการทดสอบสถิติทีผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ 1.ค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดชนิด HbA1C ของพระภิกษุที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หลัง ได้รับโปรแกรมเสริมสร้างพลังอำนาจ ต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมเสริมสร้างพลังอำนาจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) 2.ค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดชนิด HbA1C ของพระภิกษุที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมเสริมสร้างพลังอำนาจ ต่ำกว่ากลุ่มได้รับความรู้ตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05)