Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ได้ศึกษาถึงความสำคัญของการรับฟัง และการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแวดล้อม (Circumstantial Evidence) ในการพิจารณาคดีอาญา วิทยานิพนธ์แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาตัดสินปัญหาข้อเท็จจริง ในคดีอาญาฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนานั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจตาม หลักมาตรฐานการพิสูจน์คดีอาญา โดยโจทก์ต้องพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้ได้ความชัดแจ้งจน ปราศจากข้อสงสัยตามสมควร (Beyond a reasonable doubt) ซึ่งในคดีที่ไม่อาจหาพยานหลักฐานโดยตรง (Direct Evidence)ได้ ศาลสามารถรับฟังพยานหลักฐานแวดล้อม เช่นเดียวกับพยานหลักฐานโดยตรง เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ อย่างไรก็ตามพยานหลักฐานแวดล้อมนั้นต้องชั่งน้ำหนักด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานแวดล้อมต้องไม่ขัดกับหลักการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาพยานและสามัญสำนึก ทั้งจะพิพากษาตัดสินว่าจำเลยกระทำความผิด ได้ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานแวดล้อมนั้นมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างมั่นคง และสมเหตุสมผลเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องกันประดุจสายโซ่แห่งพยานหลักฐาน (Chain of Evidence) ผู้เขียนขอเสนอแนะว่า ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในเรื่องของการประเมินคุณค่าและการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานแวดล้อม โดยบัญญัติเป็นตัวบทกฎหมายหรือ ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับแนวทางในการรับฟังและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแวดล้อมให้ชัดเจน เพื่อความเป็นเอกภาพในทางทฤษฎีและการปฏิบัติ