Abstract:
การส่งออกของไทยไปยังตลาดโลกมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ย 25.19 % ในช่วงปี1986 - 1990 ต่อมาอัตราการส่งออกของไทยมีการชะลอตัวลงเหลือเพียง 19.05 %โดยเฉลี่ยในช่วงปี 1991 - 1995 แล้วในปี 1996 ปรากฎว่าการส่งออกของไทยเกิดความชะงักงันขึ้นอย่างกระทันหันโดยมีอัตราการขยายตัวเพียง 0.34 % การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้แบบจำลองส่วนแบ่งการตลาดคงที่ ( Constant Market Share Model ; CMS )เพื่อแยกแหล่งที่มาของอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดโลก สหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ จากนั้นได้ศึกษาปัจจัยกำหนดส่วนแบ่งการตลาดในระยะยาวโดยใช้วิธีการเศรษฐมิติ แล้ววิเคราะห์ปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ได้รวมไว้ในสมการเศรษฐมิติด้วยวิธีการสถิติเชิงพรรณนา การศึกษาพบว่าการส่งออกของไทยช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งมีการขยายตัวได้ดีมากเกิดจากการขยายตัวของตลาดโลก และการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งการตลาดจากคุณภาพสินค้าและความหลากหลายของสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น แต่การชะลอตัวลงของการส่งออกในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เกิดมาจากการชะลอตัวและการลดลงของส่วนแบ่งการตลาดเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงในอัตราที่เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพแรงงานและมีปัจจัยอื่น ๆ คือ การกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่มิใช่ภาษีศุลกากร และการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ( NAFTA ) เป็นต้น ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความชะงักงันในการส่งออกในปี 1996 คือ การกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าที่ไม่อยู่ในรูปภาษีอากร การลดลงของอุปสงค์ของยางพาราและแผงวงจรไฟฟ้าอย่างกระทันหัน การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ และมีปัจจัยเสริม คือ การเกิดโรคระบาดกุ้งการใช้กลยุทธทางการค้าของประเทศคู่แข่ง การปิดโรงงานเนื่องจากสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและอาจมีผลจากการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มร่วมด้วย