Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง อายุ ระดับการศึกษา รายได้ ระยะเวลาการป่วยเป็นเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้า โรคร่วม ภาวะแทรกซ้อน และระดับความรุนแรงของแผลที่เท้า กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภาคเหนือตอนบน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้าซึ่งมารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ณ.โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขภาคเหนือตอนบน จำนวน 150 คน โดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและแบบวัดคุณภาพชีวิต (WHOQOL–BREF–THAI) สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิและมีค่าความเที่ยงจากการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .89 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน สถิติสหสัมพันธ์สเปียร์แมนและไคว์สแควร์ ผลการวิจัยพบว่า 1. คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า ภาคเหนือตอนบนมีคุณภาพชีวิตระดับระดับปานกลาง ร้อยละ 74 2.ระยะเวลาการเจ็บป่วย ระดับความรุนแรงของแผลที่เท้ามีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=-.282, ρ=-.167 ตามลำดับ) 3.อายุ ระดับการศึกษา รายได้ ระดับน้ำตาลในเลือด โรคร่วม และภาวะแทรกซ้อนไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า (P>0.5)