Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินค่าความแข็งแรงดึงระดับจุลภาคของการยึดติดระหว่างชั้นวัสดุเรซิน คอมโพสิตที่มีการปนเปื้อนโดยน้ำลาย และเพื่อศึกษาถึงเทคนิคที่เหมาะสมในการเตรียมพื้นผิวก่อนการเชื่อมต่อเพื่อให้ได้ค่าความแข็งแรงดึงระดับจุลภาคที่สูงขึ้นเทียบเท่ากรณีที่ไม่มีการปนเปื้อน โดยมีการแบ่งกลุ่มทดลองที่มีการบปนเปื้อนด้วยน้ำลายทั้งสิ้นออกเป็น 13 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ไม่มีการปนเปื้อนเป็นกลุ่มควบคุม หลังการปนเปื้อนด้วยน้ำลาย กลุ่มที่ทำการเตรียมพื้นผิวโดยการเป่าลมเบา ๆ (กลุ่มที่ 2), เตรียมพื้นผิวโดยใช้กรด (กลุ่มที่ 3), ใช้สารยึดติดผลิตภัณฑ์ Adper™ Scotchbond Multi-purpose™ Plus (กลุ่มที่ 4), ใช้กรดร่วมกับสารยึดติดผลิตภัณฑ์ Adper™ Scotchbond Multi-purpose™ Plus (กลุ่มที่ 5), ใช้สารยึดติดผลิตภัณฑ์ OptiBond Solo™ Plus (กลุ่มที่ 6), ใช้กรดร่วมกับสารยึดติดผลิตภัณฑ์ OptiBond Solo™ Plus (กลุ่มที่ 7), ใช้สารยึดติดผลิตภัณฑ์ ONE-STEP® (กลุ่มที่ 8), ใช้กรดร่วมกับสารยึดติดผลิตภัณฑ์ ONE-STEP® (กลุ่มที่ 9), ใช้สารไพรเมอร์ของสารยึดติดผลิตภัณฑ์ CLEARFIL SE™ Bond (กลุ่มที่ 10), ใช้สารแอทฮีซีฟของสารยึดติดผลิตภัณฑ์ CLEARFIL SE™ Bond (กลุ่มที่ 11), ใช้สารไพรเมอร์และสารแอทฮีซีฟของสารยึดติดผลิตภัณฑ์ CLEARFIL SE™Bond (กลุ่มที่ 12), ใช้สารยึดติดผลิตภัณฑ์ CLEARFIL™ S³ BOND (กลุ่มที่ 13), ใช้สารยึดติดผลิตภัณฑ์ Adper™ Prompt™ (กลุ่มที่ 14) นำชิ้นงานเก็บในน้ำกลั่นที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 24 ชั่วโมง นำมาตัดชิ้นงานเพื่อทำการทดสอบความแข็งแรงดึงระดับจุลภาคให้ได้กลุ่มละ 12 ชิ้น แล้วทำการทดสอบความแข็งแรงดึงระดับจุลภาคและวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-Way ANOVA) ที่ความเชื่อมั่น ร้อยละ 95 (P<0.05) ผลที่ได้ พบว่ากลุ่มที่มีการปนเปื้อนน้ำลายและทำการเตรียมพื้นผิวโดยการเป่าลมเบาๆ (กลุ่มที่ 2) มีค่าความแข็งแรงดึงระดับจุลภาคต่ำกว่ากลุ่มที่ใช้สารยึดติดวิธีการต่างๆ (กลุ่มที่ 3-13) แต่ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ใช้สารยึดติดผลิตภัณฑ์ Adper™ Prompt™ (กลุ่มที่ 14) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ