Abstract:
เป็นที่สังเกตได้ว่า กรุงเทพมหานครในปัจจุบันยังประสบปัญหาด้านการจราจรอยู่ โครงข่ายถนนของพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจรที่เกิดขึ้น การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ลักษณะโครงข่ายถนน สภาพปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้น และศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะ โครงข่ายถนนกับปัญหาจราจรของกรณีศึกษาพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ เพื่อหารากฐานของปัญหาจราจรซึ่งมีผลมาจากลักษณะโครงสร้างเชิงสัณฐานของโครงข่ายถนน ในการศึกษาครั้งนี้ใช้เทคนิคSpace Syntax เป็นเครื่องมือหลักของการศึกษาที่ใช้หาค่าศักยภาพในการเข้าถึงของพื้นที่ ประกอบกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ความหนาแน่นของมวลอาคาร และสถิติการจราจรที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่าสัดส่วนระหว่างปริมาณของถนนสายหลัก และสายรองมีจำนวนน้อยมาก ในขณะที่ถนน ซอยย่อยมีจำนวนสูงมาก ประกอบกับค่าศักยภาพในการเข้าถึงของถนนสายหลักมีค่าสูงมาก ในขณะที่ค่าศักยภาพในการเข้าถึงถนนซอยย่อยมีค่าต่ำมาก สามารถสรุปได้ว่าพื้นที่ปิดล้อมดินแดงมีลักษณะโครงข่ายถนนที่ไม่สมบูรณ์ และในส่วนของพื้นที่ปิดล้อมห้วยขวางนั้นมีลักษณะโครงข่ายถนนที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งโครงข่ายที่มีอยู่ก็ไม่สมบูรณ์อีกด้วย ส่งผลต่อปัญหาจราจร คือ เกิดการเดินทางที่ไม่จำเป็นบนถนนสายหลัก สายรอง และ สายย่อย ทำให้ถนนเหล่านี้ต้องรองรับการจราจรทั้งภายในพื้นที่และผ่านพื้นที่ ปัญหาอีกประการหนึ่งที่พบ คือ การสะสมตัวของปริมาณการจราจรจากโครงข่ายภายในพื้นที่ และการที่ถนนสายหลักถูกเชื่อมต่อจากถนนซอย ย่อยโดยตรง ส่งผลให้เกิดจุดตัดเป็นจำนวนมากบนถนนสายหลักทำให้เกิดการติดขัดบริเวณปากทางเข้าออก ของถนนซอยย่อยเหล่านั้น ผลจากการศึกษาครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำในเรื่องของรูปแบบลักษณะของโครงข่ายถนนที่ส่งผลต่อปัญหาจราจร หากจะแก้ปัญหาจราจรที่เกิดขึ้น สมมติฐานที่ตั้งได้จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การทำให้ภายในพื้นที่ ปิดล้อมมีโครงข่ายถนนที่สมบูรณ์มีลำดับศักย์ที่เหมาะสมและเพียงพอขึ้น จะสามารถแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้การเชื่อมต่อหรือเพิ่มเติมโครงข่ายถนนนั้น ควรมีการพิจารณาและคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ ที่ดินในปัจจุบัน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นราคาที่ดิน ประเภทของถนนที่จะเพิ่มเติม การประมาณ ค่าใช้จ่ายในการเวนคืน และค่าก่อสร้างมาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น