Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรับตัวของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวัยสูงอายุ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้ ระยะเวลาการเจ็บป่วย ภาวะซึมเศร้า การสนับสนุนทางสังคม กับการปรับตัวของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวัยสูงอายุ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวัยสูงอายุแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลทั่วไปภาคตะวันออก โดยการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 165 คน เครื่องมือรวบรวมข้อมูล คือ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดความเศร้าผู้สูงอายุไทยมีค่าความเที่ยงเท่ากับ.83 แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม มีค่าความเที่ยงเท่ากับ .86 แบบสอบถามการปรับตัว มีค่าความเที่ยงเท่ากับ .85 วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสถิติไคสแควร์ โดยกำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวัยสูงอายุ มีการปรับตัวในระดับปานกลาง ([mean] = 2.14, ± S.D = .39) 2. เพศ ระยะเวลาการเจ็บป่วยไม่มีความสัมพันธ์กับการปรับตัว 3. อายุและระดับภาวะซึมเศร้า มีความสัมพันธ์ทางลบกับการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 (r = -.249, r = -.304) ตามลำดับ 4. สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้ การสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 (χ²= 6.60, χ² = 22.93, r = .252, r = .815 ตามลำดับ) ข้อเสนอแนะของงานวิจัยในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวัยสูงอายุ คือ ควรมีการศึกษาในลักษณะการวิจัยเชิงทดลองเพื่อพัฒนาและศึกษาผลของโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางสังคมสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวัยสูงอายุให้มีการปรับตัวที่เหมาะสมกับการเจ็บป่วยด้วย โรคซึมเศร้า