Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษามโนทัศน์และสัญลักษณ์ในงานบุญแปดหมื่นสี่พันขันธ์ ที่บ้านท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่พระสงฆ์และชาวบ้านช่วยกันประดิษฐ์ขึ้นให้เป็นพิธีกรรมประจำปีของเดือนสาม ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลเอกสารและข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับงานบุญแปดหมื่นสี่พันขันธ์ ตัวบทประกอบพิธีกรรมที่สำคัญคือคัมภีร์ใบลานเรื่อง แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ฉบับวัดป่าสักดารามซึ่งผู้วิจัยได้ปริวรรตจากอักษรธรรมอีสานเป็นภาษาไทยปัจจุบัน ส่วนในการเก็บข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับพิธีกรรม ผู้วิจัยใช้วิธีสัมภาษณ์และการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในพิธีกรรมในช่วง พ.ศ.2552-2553 ผลการวิจัยพบว่า พระครูสีลสาราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดป่าสักดาราม บ้านท่าม่วง ได้ใช้มโนทัศน์ในการประดิษฐ์งานบุญแปดหมื่นสี่พันขันธ์ที่สำคัญ ๓ ประการ คือ มโนทัศน์การสร้างพิธีกรรมจากคัมภีร์ ใบลานเรื่อง แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ มโนทัศน์การสร้างพิธีกรรมจากความเชื่อเรื่องบุญกรรม และ มโนทัศน์การสร้างพิธีกรรมเพื่อการรวมกลุ่มทางสังคม ผู้วิจัยพบว่า ในพิธีกรรมนี้มีการใช้ทั้งวัตถุสัญลักษณ์และพฤติกรรมสัญลักษณ์ วัตถุสัญลักษณ์มีทั้งวัตถุสัญลักษณ์แทนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า วัตถุสัญลักษณ์แทนเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า วัตถุสัญลักษณ์แทนอำนาจเหนือธรรมชาติและวัตถุสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ ส่วนพฤติกรรมสัญลักษณ์มีการใช้เสียงสวดคาถา การใช้เสียงดนตรีและการร้อง เล่น เต้น ฟ้อน เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม การศึกษาในครั้งนี้ทำให้เข้าใจวิธีการประดิษฐ์พิธีกรรมในสังคมไทยปัจจุบัน ที่นำเรื่องเล่าทางพระพุทธศาสนาและเรื่องเล่าพื้นบ้านมาอธิบายเครื่องประกอบพิธีที่ประดิษฐ์ขึ้น มีการสร้างสัญลักษณ์จากการตีความคัมภีร์ใบลานเรื่อง แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ในการสร้างพิธีกรรมเป็นรูปธรรมโดยการประดิษฐ์เครื่องประกอบพิธีบางอย่างจำนวน 84,000 ชิ้น เช่น ประธูป ประทีป ธงช่อ ธงไชย งานบุญแปดหมื่นสี่พันขันธ์จึงเป็นตัวอย่างของพิธีกรรมประดิษฐ์โดยพระสงฆ์ในท้องถิ่นอันเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างศรัทธาในพระพุทธศาสนาให้แก่ชาวบ้านในอีสาน