Abstract:
การวิจัยวิจัยกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบพฤติกรรมการจัดการตนเองเพื่อป้องกันอาการหืดกำเริบของเด็กวัยเรียนโรคหอบหืด ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่าย และ 2) เปรียบเทียบพฤติกรรมการจัดการตนเองเพื่อป้องกันอาการหืดกำเริบของเด็กวัยเรียนโรคหอบหืดระหว่างกลุ่มที่ได้รับการโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ การวิจัยประยุกต์จากแนวคิดการวางแผนการจำหน่ายของ Mckeehan & Coulton (1985) รูปแบบ M-E-T-H-O-D ของ Hucy et al. (1986) และแนวคิดพฤติกรรมการจัดการตนเองของ Bartholomew (2001) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเด็กวัยเรียนโรคหอบหืดอายุ 7-12 ปี ที่มารับการรักษาแผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มละ 20 คน จัดเข้าเป็นกลุ่มควบคุมก่อน แล้วตามด้วยกลุ่มทดลอง โดยจับคู่อายุและเพศเหมือนกัน กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่าย เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย โปรแกรมการวางแผนจำหน่าย สถานการณ์จำลอง สมุดพกแนวทางปฏิบัติตัว และแบบสอบถามพฤติกรรมการจัดการตนเอง ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา แบบสอบถามมีค่าความเที่ยงเท่ากับ .87 วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที่ผลการวิจัยสำคัญสรุปได้ดังนี้ 1.พฤติกรรมการจัดการตนเองเพื่อป้องกันอาการหืดกำเริบของเด็กวัยเรียนโรคหอบหืด หลังได้รับโปรแกรมการวางแผนการจำหน่าย สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการวางแผนการจำหน่าย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.พฤติกรรมการจัดการตนเองเพื่อป้องกันอาการหืดกำเริบของเด็กวัยเรียนโรคหอบหืด กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการวางแผนการจำหน่าย สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05