Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาในเชิงทฤษฎีทางกฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียว แนวความคิดและหลักกฎหมายหุ้นส่วนบริษัทถือว่าบริษัทเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ และแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งแบกรับผลขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจนั้นร่วมกัน บริษัทมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก จากผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นทุกคนมีความรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงิน หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่ตนนำมาลงทุนในบริษัทเท่านั้น ทั้งนี้การจัดการของบริษัทจะต้องอยู่ภายใต้หลักการแบ่งแยกระหว่างความ เป็นเจ้าของและการจัดการ บริษัทจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวเกิดขึ้นเนื่องจากการลงทุนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการต้องการเป็นเจ้าของกิจการและครอบงำการดำเนินธุรกิจแต่เพียงผู้เดียว บริษัทจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวได้พัฒนาจากการเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นการประกอบธุรกิจในลักษณะของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ทั้งปัญหาการใช้สภาพ ความเป็นนิติบุคคลเพื่อเป็นเกราะป้องกันความรับผิดของตนเอง ปัญหาการจัดตั้งบริษัทด้วยเงินทุนตํ่าปัญหาการถือหุ้นไขว้กันของบริษัทในเครือ หรือปัญหาการผูกขาดทางการค้า ดังนั้นในประเทศต่าง ๆ ที่ อนุญาตให้มีการจัดตั้งบริษัทจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวจึงมีความพยายามในการออกกฎหมายพิเศษขึ้นเพื่อบังคับใช้กับบริษัทจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวโดยเฉพาะ ผลจากการวิจัยพบว่า การนำหลักกฎหมายเกี่ยวกับบริษัทจำกัดโดยทั่วไปมาบังคับใช้กับบริษัทจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวอาจจะไม่เหมาะสม เนื่องจากบริษัทจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวเป็นบริษัทที่มี ลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากบริษัทจำกัดโดยทั่วไป กล่าวคือ การจัดตั้งบริษัทจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวทำให้หลักการรวมตัวกันของบุคคลเพื่อจัดตั้งบริษัทไม่มีความหมายอีกต่อไป นอกจากนี้ยังทำให้สภาพความ เป็นนิติบุคคลกลายเป็นเครื่องมือเพื่อจำกัดความรับผิดของผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียวของบริษัท ทั้งนี้จากการศึกษาถึงทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างตัวการตัวแทนพบว่าผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทมักจะเป็น บุคคลคนเดียวกันซึ่งทำให้ผู้ถือหุ้นในฐานะเป็นกรรมการบริษัทดำเนินงานของบริษัทเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตนเองโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อบุคคลอื่น รวมทั้งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม นอกจากนี้การดำเนินงานของบริษัทจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวยังส่งผลกระทบต่อการกำกับดูแลกิจการ ทำให้หลักความเสมอภาคซึ่งสิทธิในระหว่างผู้ถือหุ้นทั้งหลาย การใช้อำนาจของผู้บริหารบริษัท ตลอดจนหลักความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นทั้งหลายไม่มีความหมายอีกต่อไป ในท้ายที่สุดของการวิจัยนี้มีความประสงค์ที่จะเสนอแนะกรอบความคิด และข้อพิจารณาเกี่ยวกับตัวตนของบริษัทจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวเพื่อเป็นความเข้าใจพื้นฐานในการที่จะนำไปแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป