Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบระดับความวิตกกังวลของผู้ดูแลในครอบครัวของผู้ป่วยผ่าตัดเนื้องอกสมอง ระหว่างกลุ่มเปรียบเทียบและกลุ่มทดลองหลังได้รับโปรแกรมทันทีและหลังได้รับโปรแกรม 1 วัน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ ผู้ดูแลในครอบครัวที่มารอผู้ป่วยทำผ่าตัดเนื้องอกสมอง ณ ห้องที่จัดให้สำหรับญาติพักรอ ที่หน่วยงานห้องผ่าตัด สถาบันประสาทวิทยา จำนวน 40 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลในกลุ่มเปรียบเทียบจนครบ 20 ราย แล้วจึงเริ่มเเก็บรวบรวมข้อมูลในกลุ่มทดลอง กลุ่มเปรียบเทียบได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลขณะผ่าตัด ในขณะที่กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลร่วมกับสุคนธบำบัด เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือ โปรแกรมการให้ข้อมูลร่วมกับสุคนธบำบัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพยาบาลแบบผสมผสาน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและแบบวัดความวิตกกังวล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติทดสอบที ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ความวิตกกังวลภายหลังได้รับโปรแกรมทันที ของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) 2. ความวิตกกังวลภายหลังได้รับโปรแกรม 1 วัน ของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบไม่แตกต่างกัน (p>.05)