Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดสองครั้งก่อนและหลังการทดลองเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนก่อนและหลังได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาที่เน้นการเสริมสร้างแรงจูงใจ 2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษา ที่เน้นการเสริมสร้างแรงจูงใจกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนในเขตตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ จำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 20 คน และกลุ่มควบคุมจำนวน 20 คน กลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาที่เน้นการเสริมสร้างแรงจูงใจที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ประกอบด้วยการดำเนินกลุ่ม 5 ครั้ง เพื่อทำให้ผู้ดูแลสามารถพัฒนาทักษะที่มีประสิทธิภาพโดยเป็นกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วย 3 ด้านคือ 1) ด้านการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้ป่วย 2) ทักษะการดูแลด้านอาการที่เกิดจากภาวะโรค 3) ทักษะการดูแลด้านการบริหารยา ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) โปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาที่เน้นการเสริมสร้างแรงจูงใจ 2) แบบวัดทักษะการดูแลผู้ป่วยจิตเภท และ 3) แบบวัดแรงจูงใจของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน โดยเครื่องมือสองชุดหลัง มีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.94 และ 0.82 ตามลำดับ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) ทักษะการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนหลังได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาที่เน้นการเสริมสร้างแรงจูงใจ สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาที่เน้นการเสริมสร้างแรงจูงใจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 2) ทักษะการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทในชุมชน กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาที่เน้นการเสริมสร้างแรงจูงใจ สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05