Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรับตัวและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของนิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 ของทุกคณะ ในภาคการศึกษาแรก ปีการศึกษา 2542 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหาความสัมพันธ์ระหว่างการปรับตัวกับผลการเรียนของนิสิต โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 767 คน ซึ่งถูกสุ่มด้วยวิธี Systematic Statified Sampling จากกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์กายภาพ และเทคโนโลยี มนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลคือ แบบสอบถามการปรับตัว ของนิสิตต่อสถานศึกษา SACQ (The Student Adaptation to College Qusetionnaire) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบความแตกต่างโดยใช้ unpaired t-test, Analysis of variance (ANOVA) และทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ แบบ LSD-test การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC’ ผลการวิจัยพบว่า นิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2542 มี ความสามารถในการปรับตัวระดับปานกลาง ปัจจัยที่ไม่มีผลต่อการปรับตัวของนิสิตได้แก่เพศ ภูมิลำเนาเดิม สถานภาพครอบครัว และรายได้ต่อเดือนของนิสิต การวิเคราะห์การปรับตัวในแต่ละด้าน ได้ผล ดังนี้ การปรับตัวด้านการเรียนพบว่า กลุ่มสาขาวิชาที่ศึกษามีผลต่อการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การปรับตัวด้าน สังคมพบว่า การเข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตร อายุ รายได้ของครอบครัว และระดับการศึกษาของบิดามารดา มีผลต่อการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การปรับตัวด้านอารมณ์-ส่วนบุคคลพบว่า การเข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตร อายุ กลุ่มสาขาวิชาที่ศึกษา รายได้ของครอบครัว ระดับการศึกษาของบิดามารดา อาชีพของมารดาและสภาพที่อยู่อาศัยของนิสิตมีผลต่อการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การปรับตัวด้านความรู้สึกต่อ สถานศึกษาและการปรับตัวรวมทุกด้าน พบว่า อายุ กลุ่มสาขาวิชาที่ศึกษา รายได้ของครอบครัว และระดับการศึกษาของบิดามารดามีผลต่อการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การปรับตัวในแต่ละด้านและการปรับ ตัวรวมทุกด้าน ยกเว้นด้านสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลการเรียนเทอมแรกของนิสิต (GPAX) ในระดับ ต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การวิจัยครั้งนี้ทำให้ทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นว่า ปัจจัยต่อไปนี้ได้แก่ การเข้าร่วมกิจ กรรมนอกหลักสูตร อายุ กลุ่มสาขาวิชาที่ศึกษา รายได้ของครอบครัว ระดับการศึกษาของบิดามารดา และสภาพที่อยู่อาศัย เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของนิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อมูล เหล่านี้เป็นประโยชน์ในการค้นหาและให้ความช่วยเหลือนิสิตที่อาจมีปัญหาการปรับตัวระหว่างการศึกษาอยู่ใน มหาวิทยาลัย