Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาถึงความหมายของคำซัดทอด ตลอดจนแนวคิดในการรับฟังคำซัดทอดของผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดคดีอาญา คำซัดทอดนั้นหมายถึง ถ้อยคำของผู้ร่วมกระทำผิดในคดีอาญาที่กล่าวข้อความอันเป็นผลร้ายแก่ผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน เกี่ยวกับการกระทำผิดนั้น ในแนวคิดดั้งเดิมของประเทศอังกฤษมีแนวคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีการรับฟังคำซัดทอด เนื่องจากรัฐมีศักดิ์ศรีพอที่จะไม่ต้องใช้พยานหลักฐานที่มาจากผู้ร่วมกระทำผิด และรัฐยังมีความสามารถพอที่จะหาพยานหลักฐานอื่นมาลงโทษจำเลยได้ ต่อมาแนวคิดดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมีความจำเป็นในเรื่องนโยบายของอาญาที่ต้องรับฟังคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดเนื่องจากไม่สามารถหาพยานหลักฐานอื่นใดมาลงโทษจำเลยได้นอกจากพยานหลักฐานที่ได้มาจากผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน ในแนวคำพิพากษาฎีกาของไทยวินิจฉัยว่า คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดรับฟังได้แต่มีน้ำหนักน้อยและจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้จะต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ ผู้เขียนมีความเห็นว่าแนววินิจฉัยของศาลนั้น มีความเหมาะสมแล้วเนื่องจากการจะลงโทษจำเลยได้ศาลควรจะแน่ใจว่าจำเลยได้เป็นผู้กระทำความผิดจริง ดังนั้น การมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงจึงมีความจำเป็นและเป็นการเหมาะสมแล้วที่จะต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบกับคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิด ในคดีความผิดบางประเภทที่การประกอบอาชญากรรมมีการกระทำความผิดที่สลับซับซ้อน ยากที่จะหาพยานหลักฐานอื่นใดมาลงโทษจำเลยได้ ดังเช่นคดีที่เกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะได้มีการนำหลักกฎหมายในเรื่องการให้ความคุ้มกัน (Immunity) แก่พยาน ซึ่งมีหลักฐานว่ารัฐจะไม่ฟ้องคดีแก่พยานรัฐอันเนื่องมาจากคำให้การของเขามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้พยานผู้ร่วมกระทำผิดเบิกความได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกฟ้องร้องคดีในภายหลัง จึงทำให้คำซัดทอดของพยานผู้ร่วมกระทำผิดมีความน่าเชื่อถือ