Abstract:
นอกจากกฎหมายล้มละลายจะบัญญัติขึ้นมาเพื่อกำหนดถึงการชำระสะสางหนี้สินของบุคคลที่มีหนี้สิน ล้นพ้นตัว เพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายให้ได้รับชำระหนี้ในคราวเดียวกันและได้รับชำระหนี้เร็วกว่า การดำเนินคดีอย่างคดีแพ่งสามัญแล้ว ในขณะเดียวกันกฎหมายล้มละลายก็ยังมีประโยชน์ต่อฝ่ายลูกหนี้ด้วยการ สร้างมาตรการในการป้องกันมิให้ลูกหนี้ถูกเร่งรัดหนี้อย่างไม่เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหลุดพ้นและเริ่มต้นชีวิตทางแพ่งใหม่ได้ อีกทั้งกฎหมายล้มละลายยังสร้างประโยชน์แก่สังคมได้อีกด้วย กล่าวคือเป็น กระบวนการป้องกันมิให้ลูกหนี้มีโอกาสหลอกลวงทำหนี้สินขึ้นอีกได้ ดังนี้จากประโยชน์ที่ได้กล่าวมาจะเห็นได้ ว่ากฎหมายล้มละลายนั้นถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในการประสานประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพให้แก่บุคคลทุกฝ่าย อันได้แก่ ฝ่ายเจ้าหนี้ ฝ่ายลูกหนี้และ ประชาชนในสังคม ดังนี้แม้กฎหมายล้มละลายของประเทศไทย จะได้สร้าง มาตรการการร้องขอล้มละลายโดยลูกหนี้สมัครใจ โดยให้ฝ่ายลูกหนี้เป็นผู้ร้องขอ เฉพาะกรณีนิติบุคคลร้องขอให้ ตนเองล้มละลายตามมาตรา 88 และมาตรการอันเป็นทางเลือกอื่นที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย (Non- Bankruptcy Alternative) เช่น การขอฟื้นฟูกิจการไว้แล้ว หรือ มาตรการการจัดการหนี้แบบที่ไม่ต้องให้ลูกหนี้ ล้มละลาย (Voluntary Arrangements) ที่อาจจะได้มีขึ้นในอนาคต มาตรการข้างต้นก็หาได้เป็นทางออกที่เหมาะสมกับบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวทุกกรณีไม่ อีกทั้งการที่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาไม่สามารถยื่นร้องขอให้ ตนเองเข้าสู่กระบวนการล้มละลายได้นั้น ทำให้ลูกหนี้ไม่มีโอกาสเลือกเข้ารับประโยชน์จากกระบวนการ ล้มละลาย ทำให้ดุลยภาพของอรรถประโยชน์ต่อบุคคลทุกฝ่ายเสียสมดุลไป ซึ่งหากอนุญาตให้ลูกหนี้บุคคลธรรมดาทั้งหลายสามารถร้องขอให้ตนเองล้มละลายและหลุดพ้นจากภาระหนี้ได้ ก็จะทำให้ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อเจ้าหนี้และสังคมเช่นกัน ซึ่งหากจะนำระบบร้องขอล้มละลายโดยสมัครใจของบุคคลธรรมดามาบังคับใช้ในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพิจารณาและศึกษาอย่างรอบคอบเพื่อสร้างเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงได้ศึกษาถึงแนวความคิดของกฎหมายล้มละลายในส่วนที่เกี่ยวกับการขอล้มละลายโดยสมัครใจเพื่อให้เป็นทางเลือกของลูกหนี้บุคคลธรรมดา ตลอดจนวิเคราะห์ถึงความจำเป็นอุปสรรคและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในการนำกระบวนการล้มละลายโดยสมัครใจมาบังคับใช้ และยังได้ศึกษาเปรียบเทียบตัวอย่างของมาตรการในการควบคุมกระบวนการล้มละลายโดยสมัครใจของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและ ประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับมาตรการในการควบคุมก่อนยื่นคำร้องขอ ระหว่างร้องขอและภายหลังจากล้มละลายโดยสมัครใจแล้ว อีกทั้งยังได้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของกระบวนการล้มละลายโดย สมัครใจของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณากระบวนการล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับประเทศไทยอีกด้วย