Abstract:
ศึกษา 1. พัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานและสภาพพื้นที่ปัจจุบันของชุมชนไทยใหญ่ และสภาพพื้นที่ปัจจุบันไทยใหญ่บ้านปางหมู ในด้านสังคม วัฒนธรรมกายภาพและสิ่งแวดล้อมชุมชน 2. วิเคราะห์มรดกทางวัฒนธรรมชุมชนไทยใหญ่บ้านปางหมู ทั้งในส่วนที่เป็นรูปธรรม (Tangible cultural heritage) และนามธรรม (Intangible cultural heritage) 3. กระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม ในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนไทยใหญ่บ้านปางหมู 4. วิเคราะห์บทบาทขององค์กรชุมชนทั้งอย่างที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม และเสนอแนะแนวทางในการสนับสนุนองค์กรชุมชนเพื่อการรักษาและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การสำรวจ แบบสอบถาม การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ การสัมภาษณ์บุคคลสำคัญแบบเจาะลึกในการเก็บรวบรวมข้อมูล จากการที่ชุมชนไทยใหญ่บ้านปางหมูเป็นชุมชนไทยใหญ่แห่งแรก ก่อนการสร้างเมืองแม่ฮ่องสอนจึงทำให้ผู้คนในพื้นที่ชุมชนยังคงดำเนินชีวิต ภายใต้สภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศวิทยาของชุมชน จนก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนกับสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนและความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนาและความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชนด้วยกัน และได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม และลักษณะทางสถาปัตยกรรมไทยใหญ่ดั้งเดิมที่ยังคงอยู่ภายในพื้นที่ชุมชน การศึกษาครั้งนี้พบว่า ผู้คนในชุมชนไทยใหญ่บ้านปางหมูยังคงมีการสืบทอดและรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ชุมชนเอาไว้ ทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม ได้แก่ บ้านเรือนแบบไทยใหญ่ดั้งเดิม วัดปางหมู พระธาตุปางหมู หอเจ้าเมิง เสาใจบ้านหอเจ้าฝายและรวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีหย่าสี่สิบสอง เนื่องจากมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชุมชนไทยใหญ่ดั้งเดิม ซึ่งผู้คนในชุมชนยังคงเห็นคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมไทยใหญ่เหล่านี้ จึงได้ร่วมกันสืบทอดและรักษาเอาไว้ โดยใช้กระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม โดยมีองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนรูปแบบกิจกรรมและขนบธรรมเนียม ประเพณีไทยใหญ่ดั้งเดิมให้คงอยู่สืบทอดต่อไป จึงทำให้ชุมชนบ้านปางหมูยังคงรักษามรดกทางวัฒนธรรม ชุมชนไทยใหญ่เอาไว้อย่างสมบูรณ์