Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบภาวะซึมเศร้าและพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวม และเปรียบเทียบภาวะซึมเศร้าและพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวมกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย จำนวน 40 คน จับคู่ให้กลุ่มตัวอย่างทั้งสองมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันในเรื่องของ อายุ ระดับการศึกษา และระดับภาวะซึมเศร้า จับสลากเพื่อสุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้าเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามโปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวม ส่วนกลุ่ม ควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ โปรแกรมการพยาบาลแบบ องค์รวมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยใช้แนวคิดของจินตนา ยูนิพันธุ (2534 ก, 2542) ประเมินด้วยแบบประเมินภาวะซึมเศร้าของ Beck (1967) และแบบประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเอง ของจินตนา ยูนิพันธุ (2534 ข) ซึ่งได้ตรวจสอบความตรงของเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และหาค่าความเที่ยงของแบบวัดทั้ง 2 ฉบับ เท่ากับ .81 และ .92 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (t-test) ผลการวิจัยที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ 1. คะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้า ของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายหลังได้รับโปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวมน้อยกว่าก่อนได้รับโปรแกรมฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<05) 2. คะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวมน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) 3. คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายหลังได้รับโปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวมสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<05) 4. คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวมสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ดังนั้น โปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวมสามารถลดภาวะซึมเศร้าและเพิ่มพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายได้ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้