Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะค้นหา ทำความเข้าใจและสร้างองค์ความรู้ถึงสภาพของชีวิต และการตั้งถิ่นฐานระหว่างชุมชนแออัดกับพื้นที่เมือง เนื้อหาในการศึกษาแบ่งออกเป็น2 ส่วน คือ การศึกษาถึงพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของชุมชนแออัดกับสภาพการพัฒนาของพื้นที่ศึกษาและการเปลี่ยนแปลงของชุมชนแออัดที่มีมาควบคู่กับการพัฒนาเมือง โดยกำหนดให้พื้นที่เขตยานนาวาสาทร และบางคอแหลมเป็นพื้นที่ในการศึกษา ผู้ศึกษาได้ใช้วิธีการสัมภาษณ์ และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ จากการศึกษาสามารถแบ่งพัฒนาการของพื้นที่ศึกษาออกได้เป็น 3 ระยะ ตามสภาพการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่ เริ่มจากพื้นที่เกษตรกรรมมาเป็นที่ตั้งของโรงงาน โกดัง คลังสินค้า และกำลังก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมใหม่ของกรุงเทพมหานคร การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการใช้ที่ดินส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ชุมชนแออัดเป็นรูปแบบของการพักอาศัยที่มีพัฒนาการเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยพบว่าเมื่อมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ ที่ดินที่เคยเป็นสวนผลไม้ถูกแบ่งให้เช่าปลูกบ้านสำหรับคนงานในโรงงาน และพัฒนามาเป็นการปลูกบ้านให้เช่า การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการของภาครัฐก่อให้เกิดความต้องการในการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง และกลายเป็นแรงบีบให้เกิดการบุกรุกที่ดินเพื่อปลูกบ้านพักอาศัย ชุมชนแออัดในปัจจุบันจึงแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ ชุมชนแออัดในที่ของตนเอง ชุมชนแออัดที่เช่าที่ดินปลูกบ้าน และชุมชนแออัดที่บุกรุกที่ดินผู้อื่นซึ่งแต่ละชุมชนมีพัฒนาการการเป็นชุมชน สภาพทางกายภาพ เศรษฐกิจและลักษณะทางสังคมแตกต่างกันไป ผลจากการศึกษาสามารถนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 2 กรณี คือ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีชุมชนแออัดอยู่แล้ว เน้นการพัฒนาและปรับปรุงสภาพทางกายภาพของพื้นที่ ส่วนในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดกลุ่มที่พักอาศัยในรูปแบบของชุมชนแออัดนั้น เสนอให้ใช้มาตรการในการควบคุมและป้องกันการเกิดชุมชนแออัดขึ้นในพื้นที่ คือ มาตรการทางผังเมืองเพื่อควบคุมกิจกรรมการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของเมือง และมาตรการทางสังคมเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีทางเลือกและโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้น