Abstract:
ประเทศไทยได้แยกการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กออกต่างหากจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับผู้ใหญ่ให้อยู่ภายใต้การพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัว โดยจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งต่อมาได้ปรับปรุงเขตอำนาจและจัดตั้งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและ ครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ การควบคุมเด็กหรือเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาในระหว่างสอบสวนนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 50 กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมเด็กหรือเยาวชนเพื่อถามปากคำภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนนั้นมาถึงสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวน แล้วให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชน นั้นไปยังสถานพินิจโดยให้ผู้อำนวยการสถานพินิจเป็นผู้พิจารณาว่าจะควบคุมเด็กหรือจะปล่อยชั่วคราวทั้งนี้ตลอดเวลา 50 ปีเศษ นับแต่มีการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 การควบคุมเด็กหรือเยาวชน ดังกล่าวแทนที่จะเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชนกลับเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและเป็นผลร้ายแก่เด็กหรือเยาวชนยิ่งกว่าผู้ใหญ่ เพราะภายในระยะเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงดังกล่าว เด็กหรือเยาวชน ไม่ได้รับสิทธิขอปล่อยชั่วคราว ผลการศึกษาพบว่า หากแก้ไขกฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาปล่อยชั่วคราวเด็กหรือเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาในระหว่างสอบสวนเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ ประเทศ สหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น ก็จะเป็นประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีด้วย