Abstract:
บทบาทของฝ่ายปกครองในกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น มีมาตั้งแต่อดีตและถือว่าเป็นหน้าที่หลักประการหนึ่งของฝ่ายปกครอง ต่อมาบทบาทของฝ่ายปกครองในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งในทางกฎหมายและความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลบังคับใช้บทบาทของฝ่ายปกครองในเรื่องการตรวจสอบ ดูแล งานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของฝ่ายบริหารก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการและฝ่ายอื่นๆ แทน จากการศึกษาวิจัยพบว่าฝ่ายปกครองยังมีความเหมาะสมกับงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรบุคคล ความรู้ ความชำนาญในงานเฉพาะเรื่อง เช่น การเลือกตั้ง ฯลฯ ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่า บทบาทของฝ่ายปกครองในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ควรจะมีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอยู่ต่อไป โดยควรรับผิดชอบงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในเรื่องของการสืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีอาญาในส่วนที่ฝ่ายปกครองมีความรู้ ความชำนาญ และปฏิบัติอยู่เป็นปกติ เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับงานทะเบียนต่างๆ ในหน้าที่ของฝ่ายปกครอง เป็นต้นนอกจากนี้คดีบางประเภท เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง, คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพย์ติดฝ่ายปกครองควรเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุน เพราะมีความพร้อมในแง่ของความชำนาญและทรพัยากรในการบริหาร นอกจากนี้ฝ่ายปกครองควรมีบทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องของการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาแก่ประชาชนเช่นเดิมอยู่ต่อไปและควรมีบทบาทในการช่วยเหลือสนับสนุนงานในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่นที่ฝ่ายปกครองมีความเหมาะสม