Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจของชุมชนแออัดริมคลองเปรมประชากร ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดริมคลองเปรมประชากรในความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัย (ผู้บุกรุก) และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดริมคลองเปรมประชากรอาศัยเทคนิคการสำรวจเชิงพรรณนา โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ทางสถิติหาค่าร้อยละและความสัมพันธ์ของตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการสัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัยในชุมชน หัวหน้าชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากการวิจัยพบว่าผู้อยู่อาศัยมีความเห็นว่า ปัญหาที่มีอยู่ในชุมชนเป็นปัญหาส่วนรวมของชุมชน(ร้อยละ 86) และความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่คิดจะย้ายออกไป ถ้ามีที่ใหม่ที่ดีกว่า (ร้อยละ 33) และกลุ่มที่คิดว่าจะอยู่ที่เดิม แต่ควรแก้ไขปรับปรุง (ร้อยละ51) โดยกลุ่มที่จะย้ายออกไป มีความเห็นว่าจะย้ายไปอยู่ในรัฐจัดหาให้และควรเป็นที่ดินเช่าซื้อระยะยาว โดยรัฐปลูกบ้านให้ หรือปลูกบ้านเองก็ได้ และต้องการให้รัฐช่วยเหลือค่ารื้อถอน หรือค่าก่อสร้างบ้านหลังใหม่ เกณฑ์ในการพิจารณาทำเลที่ตั้งใหม่ได้แก่ 1. ความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน2. สาธารณูปโภค 3. เพื่อนบ้านและสาธารณูปการในส่วนของกลุ่มที่จะอยู่ที่เดิมแต่ควรแก้ไขปรับปรุง มีเหตุผลในการตัดสินใจอยู่ที่เดิมเนื่องจากมีความผูกพันกับพื้นที่นี้เพราะอยู่มานาน รองลงมาคือการอยู่ใกล้ญาติพี่น้อง และกลัวว่าระบบสาธารณูปโภคในที่ใหม่จะไม่พร้อม กลุ่มนี้มีความเห็นว่ารูปแบบการปรับปรุงควรเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชน โดยร่วมมือกันวางแผนและดำเนินการทั้งในส่วนการแก้ไขการรุกล้ำคลองการรักษาความสะอาดของคลอง การปรับปรุงชุมชนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การแก้ไขปัญหาทางด้านสังคม เช่น รณรงค์ให้เป็นชุมชนปลอดยาเสพติด การจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กและอนามัย เป็นต้น ทั้งสองแนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของแต่ละแนวทางและปัญหาที่จะเกิดขึ้น พบว่าแนวทางการย้ายไปอยู่ที่ใหม่น่าจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดริมคลองเปรมประชากรอย่างยั่งยืน โดยอยู่ภายใต้กรอบความคิดที่ให้ชุมชนเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยที่จะย้าย สถานภาพการครอบครองที่อยู่อาศัยและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้อยู่อาศัย